มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสุ่มตรวจ’ถั่วลิสงดิบ’11ตัวอย่าง ไม่พบเชื้อราเกินค่ามาตรฐาน

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างถั่วลิสงดิบชนิดบรรจุถุง จำนวน 11 ตัวอย่าง จากทั้งห้างและตลาดสดรวม 8 แห่ง จากผลการทดสอบถั่วลิสงดิบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ พบว่า 10 ตัวอย่างตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งที่เกิดจากพิษเชื้อรา (อะฟลาท็อกซิน) จำนวน 10 ยี่ห้อ มีเพียงตัวอย่างเดียวที่พบการปนเปื้อน ซึ่งเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้าดัง แต่เป็นปริมาณที่พบน้อยมาก คือ พบอะฟลาท็อกซิน ชนิดบี 1 จำนวน 1.81 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (กก.) และพบชนิดบี 2 ที่น้อยกว่า 0.5 ไมโครกรัม/กก. ซึ่งนับว่าปริมาณที่พบนี้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย ทั้งของมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) และมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98/2529 โดยอนุญาตให้พบได้สูงสุดไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/กก. และ 20 ไมโครกรัม/กก.ตามลำดับ

น.ส.มลฤดีกล่าวว่า อะฟลาท็อกซินเป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อรา โดยเฉพาะกลุ่มแอสเพอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และแอสเพอร์จิลลัส พาราซิติคัส (Aspergillus parasiticus) ซึ่งโดยทั่วไปสารพิษที่พบนี้จะมี 4 ชนิด คือ อะฟลาท็อกซิน บี 1, บี 2, จี 1 และ จี 2 สารพิษจากเชื้อรานี้องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง และจำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอาหารกลุ่มเสี่ยงจำพวกถั่วลิสง ข้าวโพด ข้าว กระเทียม พริกแห้ง พริกป่น กุ้งแห้ง รวมถึงอาหารจำพวกแป้ง เช่น แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด ฯลฯ

“การรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียน ยิ่งในเด็กเล็กยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลรุนแรงเฉียบพลัน อาจเกิดอาการชักและหมดสติเนื่องจากตับและสมองทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีผลในระยะยาว คือ อะฟลาท็อกซินที่สะสมอยู่ในร่างกายจะไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างโปรตีน ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติ ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ เนื่องจากสารพิษนี้จะไปรบกวนการทำงานของตับ ทำให้เกิดไขมันมากในตับ และทำให้มีพังผืดขึ้นที่ตับ” น.ส.มลฤดีกล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า จากการทดสอบครั้งนี้ทุกตัวอย่างปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน ถือได้ว่าถั่วลิสงดิบปลอดภัย 100% มีเพียง 1 ตัวอย่างที่ตรวจพบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน แต่ไม่เกินมาตรฐานทั้งมาตรฐานระหว่างประเทศและของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถือเป็นเรื่องดี

Advertisement

IMG_2746

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image