สธ.ส่งทีมเยียวยาผู้ประสบภัยเรือชนเขื่อนอยุธยา วอนอย่าจี้ถาม มีผลต่อจิตใจ

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุชนตอม่อ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2559 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาให้การดูแลการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ โดยได้ส่งทีมหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลสังกัด หน่วยกู้ภัย มูลนิธิฯ ไปยังจุดเกิดเหตุทันทีหลังได้รับแจ้งเหตุ พร้อมนำส่งผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาจำนวน 52 คน โดยล่าสุดเวลา 11.00 น. วันที่ 19 กันยายน ได้รับรายงานว่า ผู้บาดเจ็บที่อาการเล็กน้อยอาการดีขึ้นเริ่มทยอยกลับบ้านได้แล้ว ยังเหลือผู้บาดเจ็บนอนพักรักษาในที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จำนวน 13 คน ต้องพักรักษาตัวในห้องไอซียู 1 คน

“ในการดูแลด้านจิตใจ ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิต ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต(MCATT) จากกรมสุขภาพจิต และโรงพยาบาลศรีธัญญา ร่วมกับทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ลงพื้นที่ดูแลเยียวยา ฟื้นฟูจิตใจผู้บาดเจ็บ ญาติผู้เสียชีวิต ผู้อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อให้สามารถปรับตัวและกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ” นพ.ปิยะสกล กล่าว

รวมภาพแหล่งข่าว_2628

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า การดูแลสภาพจิตใจของผู้ประสบเหตุการณ์และญาตินั้นจะเข้าไปช่วยเหลือหลังจากการช่วยเหลือทางด้านร่างกายเสร็จแล้ว คือประมาณ3-5 วันหลังเกิดเหตุจากนั้นก็ค่อยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องโดยหลักการ คือ เข้าไปช่วยให้ผู้ประสบเหตุเหล่านั้นมีความรู้สึกปลอดภัยให้มากที่สุด เปิดโอกาสถามให้เขาได้ระบายออกมาเองถึงความรู้สึกต่างๆ เช่น บอกกับคนเหล่านั้นว่าหากมีความรู้สึกไม่สบายใจอะไรสามารถบอกได้ เล่าสู่กันฟังได้ แต่อย่าใช้คำพูดไปซักไซ้ไล่เรียงให้ผู้ประสบเหตุการณ์ต้องเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง สถานการณ์เป็นอย่างไร เจออะไรมาบ้าง เพราะคำถามเหล่านี้จะไปตอกย้ำซ้ำเติม

Advertisement

“โดยเฉพาะคนใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง หรือครู อาจารย์จะต้องมองให้รอบด้าน หมั่นสังเกตอาการ โดยเฉพาะเด็กที่อาจจะสื่อสารทำให้ไม่เข้าใจ ก็ต้องรู้จักดูที่พัฒนาการเช่นบางคนไม่ร้องไห้ แต่กลับซึม เหม่อลอย หรือก้าวร้าว งอแง เรียกร้องความสนใจ หรือถ้ากรณีเด็กมากๆ อาจจะลองให้เล่านิทานร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ก็จะสามารถทราบความรู้สึก และสภาวะจิตใจของเด็กๆ ได้” พญ.อัมพร กล่าว และว่า สำหรับกลุ่มคนที่สูญต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปก็ต้องได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน เพราะบางคนอาจจะมีความรู้สึกเศร้า และโทษตัวเอง หรือโทษคนอื่นๆ ปฏิเสธความจริงเพื่อชะลอความเจ็บปวดที่เผชิญอยู่ บางคนซึมเศร้า ดังนั้นการเข้าไปช่วยคนเหล่านี้ต้องช่วยให้เขาปรับตัว และเรียนรู้ที่จะยอมรับความจริง ช่วยดูองค์ประกอบของสังคม แม้กระทั่งงานศพก็ต้องให้มีนักจิตแพทย์ไปร่วมเพื่อสังเกตการณ์ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image