ชมรมแพทย์ชนบท พาส่องกระบวนการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้น ชี้ผิดขั้นตอนทาง กม.หลายประการ

ชมรมแพทย์ชนบท พาส่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ATK 8.5 ล้านชิ้น ชี้ผิดขั้นตอนทางกฎหมายหลายประการ

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เพจ ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความประเด็น  “ส่องลึก กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ATK 8.5 ล้านชิ้น ผิดขั้นตอนทางกฎหมายหลายประการ” โดยระบุว่า

ขั้นตอนคร่าวๆในการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้น โดยย่อและเข้าใจง่าย มีประมาณนี้คือ

1. สปสช.ในฐานะเจ้าของงบประมาณ จะเป็นผู้ดำเนินการทำรายการความต้องการเพื่อเสนอบอร์ด สปสช. เนื่องจาก ATK เป็นรายการใหม่ จึงต้องกำหนดคุณลักษณะ(สเปก) ก่อน เมื่อกำหนดสเปกได้แล้ว ก็ต้องสืบราคา ต่อรองราคา กำหนดมาตรฐานเบื้องต้น เพื่อกำหนดราคากลาง นำสเปกและราคากลางนั้นไปคำนวณเพื่อของบประมาณ จนได้รับการอนุมัติจากบอร์ด สปสช. แต่เนื่องจาก สปสช.ไม่สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เองได้ จึงต้องส่งเรื่องให้โรงพยาบาลราชวิถีในนามเครือข่ายหน่วยบริการ และองค์การเภสัชกรรมดำเนินการ

2. พอเรื่องไปถึงโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งสังกัดกรมการแพทย์ ตามปกติ เรื่องดังกล่าวต้องมีการนำเข้าขออนุมัติในที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ (มีรองปลัด นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร เป็นประธานแทนปลัด) ซึ่งต้องให้ความเห็นชอบแผนในการจัดซื้อ อันประกอบด้วยคุณลักษณะ หรือสเปก ราคา และจำนวน ตามที่ สปสช.ส่งมา หากไม่เห็นชอบก็ต้องยื่นคัดค้าน แต่ที่ผ่านมาด้วยความรีบเร่ง ไม่ได้มีการประชุมเพื่ออนุมัติแผนกรณี ATK แต่อย่างใด

Advertisement

3. เมื่อมีการอนุมัติแผนแล้วว่าซื้อแน่ ในสเปกไหน จำนวนเท่าไหร่ ที่ราคากลางใด ทางโรงพยาบาลราชวิถี ก็จะส่งเรื่องไปที่องค์การเภสัชกรรม เพื่อให้เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การเภสัชกรรม แต่กรณีนี้น่าสนใจมากตรงที่ว่า คณะอนุกรรมการจัดทำแผนฯ ยังไม่ได้มีการประชุม แต่องค์การเภสัชกรรมก็รีบไปดำเนินการ และที่สำคัญ ได้ดำเนินการลดสเปกการจัดซื้อลงไป (โดยตัดคำว่า มาตรฐานองค์การอนามัยโลกออก) โดยพลการ เป็นการลดสเปกโดยไม่มีอำนาจ การลดสเปกโดยพลการ โดยไม่ลดราคากลาง แม้จะเลือกรายที่เสนอราคาต่ำสุด แต่ก็ยังส่งผลให้ได้ชุดตรวจ ATK ที่ราคาแพงในสเปกที่ไม่ตรงกับความต้องการของเจ้าของงบคือ สปสช. และไม่ตรงกับความต้องการใช้ ATK ของบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยบริการที่ต้องการใช้ ATK คุณภาพสูง เพื่อการแก้ปัญหาวิกฤตโรคโควิดที่ระบาดรุนแรงในขณะนี้

4. เมื่อองค์การเภสัชกรรมจัดซื้อจัดจ้าง จนได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ก็ต้องแจ้งผลการจัดซื้อกลับมาที่โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อดำเนินการลงนามการจัดซื้อจัดจ้าง หากโรงพยาบาลราชวิถีเห็นชอบลงนามในสัญญาการจัดซื้อตามที่องค์การเภสัชกรรมเสนอมา ทางองค์การเภสัชกรรมก็จะลงนามสั่งซื้อจากบริษัท แต่ ผอ.รพ.ราชวิถี ยังไม่ลงนาม เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ซื้อผิดสเปก และราคาที่ได้มาก็แพงกว่าราคาท้องตลาดที่ขายในยุโรปถึง 2 เท่า ลงนามไปก็อาจติดคุก จึงเกิดความชะงักงัน จะเดินหน้าก็มีความผิด จะถอยหลังก็ไม่ได้

Advertisement

นี่คือเรื่องที่น่าปวดหัวของกรณี ATK ต้นเหตุทั้งหมดก็เกิดจากการที่องค์การเภสัชกรรมไปลดสเปก ไม่ตรงกับความต้องการของเจ้าของงบประมาณนั่นเอง (ทำไมองค์การเภสัชจึงกล้าลดสเป็ค อันนี้ก็มีความน่าสนใจ) และยังมีการทำผิดขั้นตอนทางกฎหมายหลายประการ และหากมีการดันทุรังลงนามจัดซื้อให้ได้ คนที่ลงนามและมีส่วนร่วมในการจัดซื้อครั้งนี้ อาจจะต้องเสียอนาคตทางราชการก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image