ดับฝัน! ‘วู้ดดี้’ อดมีลูกอุ้มบุญ สบส.ปรามหากทำเข้าข่ายผิดกฎหมายรับตั้งครรภ์แทน

ตามที่มีการนำเสนอข่าวกรณี นายวุฒิธร มิลินทจินดา หรือ วู้ดดี้ พิธีกรชื่อดังออกมาระบุว่า เตรียมทำการอุ้มบุญหลังจากที่ได้แต่งงานกับแฟนหนุ่ม โดยน้องสะใภ้เป็นบุคคลที่อาสาจะเป็นผู้ตั้งครรภ์แทนนั้น

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า มาตรา 21 พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การตั้งครรภ์แทนจะดำเนินการต้องเป็นกรณีที่เป็นสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ประสงค์จะมีบุตรแต่ภรรยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายของประเทศไทยอนุญาตให้มีการจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น คู่รักชายรักชายยังไม่สามารถจดทะเบียนเป็นสามีภรรยากันได้ จึงไม่ถือเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้มีการตั้งครรภ์แทนหรือทำอุ้มบุญได้ในประเทศไทย

ทพ.อาคม กล่าวอีกว่า กรณีที่เป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน จะต้องยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (คทพ.) ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ยื่นขออนุญาตจะต้องเป็นผู้ให้บริการคือ แพทย์ โดยจะต้องยื่นขออนุญาตเป็นรายๆไป แต่ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ได้ดำเนินการยื่นขออนุญาตด้วยตัวเองจะมอบหมายให้ตัวแทน จึงอาจเป็นได้ว่าสามีภรรยาที่ต้องการให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นผู้ยื่นขออนุญาตเอง แต่จะต้องมีหนังสือมอบหมายจากแพทย์ที่จะให้บริการ สามีภรรยาไม่สามารถยื่นขออนุญาตเองโดยไม่มีหนังสือจากแพทย์ ทั้งนี้ ปัจจุบันคทพ.มีการอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนแล้ว 57 ราย และมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยื่นเรื่องมาขออนุญาตแต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

“เรื่องนี้ต้องใช้เวลาพิจารณาค่อนข้างนาน เนื่องจากคณะกรรมการฯจะต้องพิจารณาเอกสารหลักฐานต่างๆอย่างรอบคอบ ทั้งเอกสารเกี่ยวกับสุขภาพ และเอกสารรับรองภาวะที่ภรรยาไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ เช่น หนังสือรับรองการผ่าตัดมดลูก การเป็นเนื้องอกที่มดลูก หรือการเป็นมะเร็งที่มดลูก ซึ่งแพทย์ให้การรับรอง” ทพ.อาคม กล่าว และ ว่า ในส่วนของหญิงที่จะตั้งครรภ์แทนนั้น โดยหลักการจะต้องไม่เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภรรยาที่ต้องการให้มีการตั้งครรภ์แทน และหากมีญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภรรยาที่สามารถตั้งครรภ์แทนได้จะพิจารณาจากตรงนี้ก่อน หากพบว่าไม่มีตรงนี้จึงจะพิจารณาให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ ซึ่งหากเป็นน้องสะใภ้สามารถตั้งครรภ์แทนได้ แต่จะต้องเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดด้วย อย่างเช่น มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 40 ปีบริบูรณ์ และเคยมีบุตรมาแล้วโยการคลอดตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หรือในกรณีที่ผ่าคลอดไม่เกิน 1 ครั้ง และเป็นผู้ที่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภรรยา เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image