“ศพศ” เตรียมยื่นล้านชื่อให้ “บิ๊กตู่” บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติใน รธน.

พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สญฺญโต) ประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ) เปิดเผยว่า กรณีที่ ศพศ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชาวพุทธเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยยื่นหนังสือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมล่ารายชื่อสนับสนุนนั้น ล่าสุด อาตมาได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. … ฉบับที่ร่างแรกที่ยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 31 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติ หรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน  แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 63 ระบุ “รัฐพึงอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น” วรรคแรก “ในการคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐต้องมีมาตรการ และกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการ หรือกลไกดังกล่าว” นั้น ไม่พบว่ามีมาตราใดบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

“อย่างไรก็ตาม ศพศ จะประสานกับเครือข่ายองค์กรพุทธให้ทำหนังสือเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยครั้งนี้จะยื่นโดยตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะมีหลายมาตราที่นายกฯ ไม่เห็นด้วย ดังนั้น การยื่นหนังสือตรงต่อนายกฯ ทำให้ ศพศ ยังมีความหวังว่าท่านจะเห็นความสำคัญ และนำไปสู่การปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ และบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และหากนายกฯ ถามว่ามีผู้สนับสนุนกี่รายชื่อ ศพศ จะนำรายชื่อที่รวบรวมมากกว่า 1 ล้านรายชื่อ มายื่นอีกครั้ง” พระเทพวิสุทธิกวี กล่าว
พระเทพวิสุทธิกวี กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ศพศ จะรณรงค์เรื่องความสำคัญของสถาบันหลักของไทย คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ประชาชนได้รับทราบ และทำความเข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใดศาสนาจึงอยู่ใน 3 สถาบันหลัก ทั้งนี้ เมื่อเรียกร้องถึงที่สุดแล้วฝ่ายรัฐบาลยังเพิกเฉย ศพศ จะรณรงค์ให้ประชาชนโหวตโน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว

นายบรรจบ บรรรรุจิ ประธานคณะกรรมการรณรงค์ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ กล่าวว่า คิดว่าการรณรงค์ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติได้ผลระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ก็ตาม เพราะในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ทำให้เห็นว่ารัฐอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการผลักดันให้เกิดกฎหมายลูกตามมา โดยต้องอาศัยนักการเมือที่เป็นชาวพุทธโดยแท้ช่วยผลักดัน
“อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่ทิ้งเป้าหมายเดิม คือการเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ถึงแม้ครั้งนี้จะยังไม่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะเรียกร้องไปเรื่อยไจนกว่าจะมีการบัญญัติ”นายบรรจบกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image