วงเสวนาจวก ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ จุดบกพร่องเพียบ-ต้องยุติ! ถามแรง “เหตุใดสจล.กล้ารับงานระดับชาติ?”

เมื่อวันที่ 21 กย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดเสวนาหัวข้อ “โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม. สร้างสรรค์หรือทำลาย” โดย สมัชชาแม่น้ำ มีผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก ทั้งประชาชนทั่วไป นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ อาทิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต, สถาปนิกชื่อดัง เช่น นางปองขวัญ ลาซุส , กลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ นาย กฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือ น้อย วงพรู ผู้บริหารโรงแรมเดอะสยาม ซึ่งตั้งอยู่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงเครือข่ายต่างๆ เช่น เครือข่ายบางปะกง และเครือข่ายท่าจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการศิลปะกราฟิตี้ โดย “AlexFace” , นิทรรศการภาพถ่ายวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงมีสถาปนิกจิตอาสา นำโปสการ์ดที่มีภาพแสดงถึงประวัติศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยามาแจกให้ผู้ร่วมงานเขียนข้อความแสดงความคิดเห็น

นางภารนี สวัสดิรักษ์ ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าวว่า เจ้าพระยามีสายเดียว ถ้าเบรกแตกจะเสียหาย ที่ผ่านมาทางสมัชชาทำงานเหมือนติดปีก นับวันยิ่งมีคำถามซึ่งไม่ได้รับคำตอบ ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 5 วันก่อนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ส่งมอบงานให้กทม. อย่างไรก็ตาม ทางสมัชชาจะก้าวต่อไปไม่หยุดนิ่ง

นายยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม FRIENDS OF THE RIVER กล่าวว่า เมื่อเห็นคลิปโฆษณาของสจล.แล้วอาจจะเคลิ้ม แต่ยืนยันว่าไม่เอาทางเลียบเจ้าพระยา อยากถามว่ามีความจำเป็นอะไร การลงพื้นที่ก็เป็นคำถามปลายปิด สังคมไม่มีทางเลือกว่าไม่เอาได้หรือไม่ สำหรับตัวเลขที่ปลัด กทม.อ้างว่ามีคนเห็นด้วยเกิน 95 เปอร์เซ็นต์ มาจากคำถามปลายปิด จึงอยากให้คิดดูว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ ลองคิดดู นอกจากนี้ยังมีประเด็นข้อทักท้วงเรื่องรูปแบบซึ่งทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

Advertisement

“ฝรั่งบอกว่า โครงการนี้จะทำแม่น้ำเจ้าพระยาให้เหมือนดิสนีย์แลนด์ อุบัติเหตุที่อยุธยาล่าสุด หลายคนบอกว่าเป็นเพราะแม่น้ำแรงขึ้นหลังการสร้างเขื่อน จริงๆแล้วใน 12 แผน บางแผนน่าสนใจ เช่น การฟื้นฟูชุมชน แต่ถูกผลักเป็นโครงการในอนาคต ไม่รู้ว่าจะมีงบไหม ทำเมื่อไหร่ อาจเป็นการขายฝัน แต่สิ่งที่ใช้งบมากที่สุด กลับเอามาทำก่อน จึงส่อเจตนาบางอย่างที่ต้องช่วยกันวิเคราะห์ ไม่ได้ค้านหัวชนฝา แต่อยากเห็การพัฒนาที่ยั่งยืน และประชาชนคือหุ้นส่วนของการพัฒนา โครงการนี้ต้องยุติ ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์นโยบายในทุกระดับ ทางเลียบอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ดังนั้น อาจมีทางเลือกก่อน และต้องกำหนดวิสัยทัศน์รวม” นายยศพลกล่าว

นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ตนมีความเกี่ยวข้องกับแม่น้ำมากกว่า 50 ปีตั้งแต่สะพานพระรามเจ็ดถึงสุดเขตกรุงเทพฯ โครงการลักษณะนี้ต้องมีกระบวนการคิดและทำให้ตอบโจทย์ได้ แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เชื่อว่าแม้จะดำเนินต่อไป ก็ขับเคลื่อนยากหรือขับเคลื่อนไม่ได้เลย

“ไม่ได้ค้านนโยบาย แต่ต้องคิดให้ละเอียด ถ้าคุ้มถึงควรทำ และต้องให้สอดคล้องภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคม ผู้คน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณี ชุมชนมีความสลับซับซ้อน ไม่ใช่ว่าใช้สถาบันการศึกษา 2 แห่งมาทำแผนแม่บทแล้วจะสำเร็จ ทีมงานต้องชัดเจน เท่าที่เห็น ในอนาคตขับเคลื่อนยาก หรือขับเคลื่อนไม่ได้เลย บอกได้คำเดียวว่าไม่สำเร็จ นี่คือความเป็นห่วง ขอให้ชะลอ ตั้งสติ คิดให้รอบคอบทุกมิติ อยากฝากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ใจเย็นๆ” นายปราโมทย์กล่าว

Advertisement
นายปราโมทย์ ไม้กลัด
นายปราโมทย์ ไม้กลัด

นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนทราบข่าวโครงการดังกล่าวจากอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ว่าอธิการบดี สจล. รับทำงานในนามสถาบัน ในขณะที่อาจารย์ไม่ให้ความร่วมมือ ถามว่าเหตุใดกล้ารับงานระดับชาติ

“การที่สจล.ไปรับงานมา แล้วหน่วยงานย่อยในมหาวิทยาลัยไม่ให้ความร่วมมือ หมายความว่าอย่างไร ควรดูตัวเองว่ามีความสามารถแค่ไหนเข้าใจปัญหาแค่ไหน กล้าหาญชายชัยอะไรที่จะมารับงานระดับชาติ ไม่งั้นคงไม่ต้องไปจ้างบริษัทเอกชนไปร่วมทีม สจล. เป็นนายหน้าจ้างบริษัทเอกชนออกแบบ พอเห็นวิมานพระอินทร์แทบลมใส่ พูดแบบสามัญสำนึก ยังไม่ต้องถึงหลักวิชา แค่นี้ยังคิดไม่ได้ สร้างเขื่อนบดบัง สถาปนิกที่คัดค้านทุกคนมองออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ให้ด่าสถาบันอื่น ไม่ทำ แต่นี่คือเรื่องเพื่อชาติ ต้องพูดตรงไปตรงมา” นายเผ่ากล่าว และว่า ความโลภทำให้คนคอร์รัปชั่นเดินหน้าหนึ่งก้าวถอยหลังสามก้าว ผลประโยชน์โครงการนี้มหาศาล จะตกถึงใครบ้างไม่ทราบ เมื่อโดนท้วงติง ก็โกรธ อีกทั้งสถาปนิกบางรายหลงตนว่าเก่ง โครงการนี้จะล้มเลิกได้ทันทีเมื่อสจล.ถอนตัว ควรเห็นแก่ลูกศิษย์ที่จะเรียนจบออกไป เริ่มต้นคิดใหม่ แน่จริงเหตุใดจึงไม่ประกวดแบบ อย่าให้สถาบันมัวหมองในยุคสมัยที่ตัวเองเป็นอธิการ

นายยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกผังเมืองชื่อดัง กล่าวว่า ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์มีแนวคิดคล้ายโครงการนี้ แต่มีความยาวกว่า 20 กม. ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นที่อยู่ของคนไร้บ้าน ตำรวจยอมรับว่าไม่สามารถดูแลได้ทันเวลา การทำทางเดินที่ไม่ค่อยมีคนใช้มักเกิดเหตุเช่นนี้ สำหรับกรุงเทพฯ มีคลองจำนวนมาก ควรนำงบประมาณกระจายไปใช้สำหรับที่อื่นด้วย นอกจากนี้ควรให้ประชาชนตัดสิน ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการโหวตแบบออนไลน์ ควรนำมาทดลองใช้เหมือนต่างประเทศ

“น่าจะให้ประชาชนตัดสินได้ว่าจะเอางบประมาณไปทำอะไรบ้าง ในบราซิล และซานฟรานซิสโก ให้กดโหวต เช่น โหวตให้ทำห้องสมุดชุมชน คนยิ่งมีสิทธิตัดสินใจมากขึ้น ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ได้ทราบเสียงประชาชน ขนาดออนไลน์แบงค์กิ้งยังทำได้ แต่ประเด็นการเมืองและสังคม เรายังหย่อนบัตรกันอยู่ เรื่องการใช้งบ ก็เหมือนสองร้อยปีที่แล้ว” นายยรรยงกล่าว

นายยรรยง บุญ-หลง
นายยรรยง บุญ-หลง

นายศศิน เฉลิมลาภ นักอนุรักษ์ กล่าวว่า โครงการนี้สร้างความเดือดร้อนให้คนจำนวนมาก เชื่อว่าในอนาคตอาจกลายเป็นโฮปเวลล์ เชื่อว่าเจ้าพระยาเป็นแลนด์มาร์กมา 50 ปีแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำแลนด์มาร์กใหม่ สิ่งที่ควรทำคือ ต้องต้องไม่ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำลายเจ้าพระยาเกิดขึ้นจึงจะถูก

“ต้องให้แม่น้ำใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับมวลน้ำ ไม่ใช่รุกเข้าไปในแม่น้ำ ซึ่งเริ่มจากวัด พระไม่รู้เป็นอะไร กลัวน้ำมาก ชอบทำลายแม่น้ำโดยการถม จุดที่จะทำโครงการฯเป็นหัวใจของการท่องเที่ยวกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งใช้ประโยชน์มานานแล้ว ปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว คนริมสองฝั่งไม่ใช่สลัม แต่เป็นชุมชน ทางเลียบที่จะทำ ถ้าให้ไปขี่จักรยาน ผมไม่ไปหรอก นักขี่จักรยานที่รักสิ่งแวดล้อม ก็ประกาศว่าถ้าเป็นโครงการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ไม่เอา ถ้าเกิดขึ้นจริง เวลานั่งเรือจะเล่นมือถือตลอดทางไม่มองสองข้างเจ้าพระยาอีก” นายศศินกล่าว

นายศศิน เฉลิมลาภ
นายศศิน เฉลิมลาภ

นาย ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ตนเป็นศิษย์เก่าสจล. เข้าใจว่า เป็นเรื่องธุรกิจ คิดถึงผลประโยชน์ระยะสั้นมากกว่ามองอนาคตร่วมกัน ขอตั้งคำถามในฐานะศิษย์เก่า 3 ข้อ 1. ในยุคสมัยเรา เท่าไหร่ จึงจะพอ 2. เราต้องการอะไรที่จะทำให้มีสุขภาวะดี 3. ชีวิตจะยั่งยืนโดยไม่เบียดเบียนคนอื่นได้หรือไม่

“นอกจากแม่น้ำเจ้าพระยามีชีวิตแล้ว ยังมีรอยยิ้ม การไม่ทำอะไรเลย จะช่วยปกป้องสุขภาวะของคนให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป บางทีเรามองแต่สายน้ำใหญ่ จริงๆยังมีเส้นเลือดฝอย คูคลอง พื้นที่ชุ่มน้ำที่ชาวบ้านใช้อยู่ สิ่งสำคัญคือถ้าละเลยการเชื่อมต่อของแม่น้ำสายใหญ่และคูคลอง คือการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด” นายธารากล่าว

จากนั้น มีการอ่านแถลงการณ์คัดค้านโครงการฯ เนื้อหาโดยสรุป ว่า โครงการดังกล่าว มีความบกพร่องจำนวนมาก อาทิ มีการจัดจ้างสถาบันการศึกษาซึ่งไม่มีใบอนุญาตนิติบุคคลทำการศึกษา, ไม่แยกขั้นตอนการศึกษากับการออกแบบ, บกพร่องด้านความโปร่งใส เช่น วิมานพระอินทร์ คล้ายคลึงกับคริสตัล ไอแลนด์ รัสเซีย สังคมจึงตั้งคำถามถึงการทุจริตด้านงบประมาณ ว่าคุ้มค่าหรือไม่ อีกทั้งบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ให้ประชาชนได้รับผลศึกษาในแต่ละขั้นตอน มีการกล่าวอ้างว่ามีคนเห็นด้วย 95%ซึ่งไม่มีอ้างอิง, เป็นโครงการที่มีการตั้งธงไว้แล้วว่าจะทำทางเลียบ, บกพร่องด้านกระบวนการ ชุมชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วม ขาดการจัดลำดับความสำคัญ ไม่มีความเชื่อมโยงการพัฒนาโดยภาพรวม ไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษา เช่น ผลกระทบสิ่งแวดล้อม , บกพร่องด้านรูปแบบ ทำลายแม่น้ำ ส่งผลต่อระบบนิเวศ สร้างภาระการดูแลรักษาในอนาคต เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ สมัชชาแม่น้ำจึงขอให้ยุติโครงการนี้

14370163_10154537602002733_6352623169937258361_n
14355680_10154537601917733_7878571328659001772_n

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image