‘ไข่เน่า’ OnlyFans ร้อนฉ่าสังคมไทย

‘ไข่เน่า’ OnlyFans ร้อนฉ่าสังคมไทย

ร้อนฉ่ากับประเด็น ‘ไข่เน่า’ ดาว OnlyFans นักศึกษาชั้นปี 2 ที่ตำรวจไซเบอร์จ่อเอาผิดในความผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เรื่องการชักชวนให้ผู้อื่นกระทำอนาจาร โดยมีโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี และโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปฐมเหตุเรื่องนี้มาจาก เธอผลิตคลิปวิดีโอร่วมเพศกับแฟน เผยแพร่ลงบน OnlyFans มีผู้เข้าไปติดตามและจ่ายค่าสมาชิกเป็นจำนวนมาก โดยเธอได้ให้สัมภาษณ์ลักษณะเชิญชวน ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย

ล่าสุด ตำรวจได้บุกจับ ‘ไข่เน่า’ และแฟนหนุ่ม ที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งไม่เพียงแต่ OnlyFans เท่านั้นยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ อีกมากที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเตรียมเอาผิดด้วย

กล่าวถึง OnlyFans คือ แพลตฟอร์ม ที่เป็นโซเชียลมีเดียเหมือนกับเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม หรือยูทูบ ที่สามารถสร้างและติดตามคนอื่นได้แบบฟรีๆ เพียงแต่มีความแตกต่างตรงที่อนุญาตให้ครีเอเตอร์สร้างสรรค์คอนเทนต์แนวไหนก็ได้โดยไม่มีขีดจำกัด ไม่มีการเซ็นเซอร์ จึงทำให้มีเนื้อหา 18+ ได้ คนดูหรือผู้ติดตามจะมีทั้งแบบดูฟรีและแบบเสียเงิน ที่มีทั้งรายเดือนถึง 1 ปี เพื่อสนับสนุนครีเอเตอร์ด้วย

ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนหรือสมัครมากกว่า 130 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยเองก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นทั้งในแง่ของครีเอเตอร์และยูสเซอร์ผู้ใช้งาน กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ที่สะท้อนหลากหลายแง่มุมในสังคม

นางสาวปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กรโปรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ในสังคมประเทศไทยเรื่องเพศสัมพันธ์ หรือเซ็กซ์ ถูกตีตราให้เป็นเรื่องต้องห้าม (Taboo) เป็นเรื่องเชิงลบ ทำให้สับสนระหว่างเซ็กซ์ที่เกิดจากการยินยอมพร้อมใจกับเซ็กซ์ที่เกิดจากการบังคับขืนใจ ใช้ความรุนแรง ข่มขืน ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์สะเทือนใจเหล่านี้เกิดขึ้นกลับถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรม เป็นเรื่องที่ไม่นำมาพูดถึงหรือนำไปสู่การแก้ไขกันอย่างจริงจัง ทว่ากลับไปตื่นเต้นกับการมีเพศสัมพันธ์ของคนสองคนที่ยินยอมพร้อมใจต่อกัน

ส่วนตัวมองว่าปรากฏการณ์การตอบรับของสังคมไทย และเจ้าหน้าที่รัฐต่อเรื่องนี้เหมือนจะสลับกัน ปรากฏการณ์ ไข่เน่า คือ การให้การศึกษาเรื่องเพศศึกษาในสังคมไทย อาจจะต้องย้อนกลับไปคิดว่าทำไมผู้ใหญ่หลายคนถึงรับเรื่องนี้ไม่ได้ แทนที่จะมองว่าการที่คนแห่ไปชม OnlyFans ในเนื้อหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์แบบนี้ สะท้อนว่าสังคมไทยไม่ได้มีช่องทางมากพอที่จะให้เด็กเยาวชนได้รับการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ (Sexuality Education) ที่ถูกต้อง

ซึ่งในหลายๆ ประเทศพบว่าการให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชนทำให้สังคมเป็นสังคมที่ปลอดภัยมากขึ้น เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาฯควรจะต้องทำการศึกษา เรื่องเพศว่าสำคัญอย่างไรนั้น มีผลวิจัยมาจากหลายสังคมว่าเป็นการปกป้องทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องของร่างกายอย่างเดียว ยังเป็นเรื่องของความยินยอมพร้อมใจ ความสุข และสร้างความเป็นผู้ใหญ่ พอมีการลงโทษปัจเจกบุคคลแบบนี้มองได้ว่าเป็นการขัดขวางความสุขประชาชนหรือไม่ เมื่อรัฐไม่สามารถให้ความสุขแก่ประชาชนได้ คนก็แสวงหาความสุขในรูปแบบอื่น

ในสังคมไทยไม่ได้พูดกันเยอะแยะถึงเรื่องที่น้อง 13 ถูกรุมโทรม หรือที่ตำรวจไปบอกนักข่าวว่า วันนี้ใส่กางเกงในมาหรือเปล่า ตำรวจควรให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อมากกว่า แต่กับเรื่องที่ประชาชนเขามีความสุขอยู่แล้ว รัฐไม่มีสิทธิมาตัดสินว่าควรจะต้องดูคอนเทนต์แบบไหน หรือเข้ามาควบคุมเสียงหัวเราะและสิทธิที่จะมีความสุขของเรา เพราะต่อไปอาจจะควบคุมลมหายใจของเราได้ด้วยซ้ำ ประชาชนควรเลือกได้เอง กับปรากฏการณ์ที่มีผู้ผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์เผยแพร่ในโอนลี่แฟนส์จำนวนมาก และการเพิ่มขึ้นของจำนวนของผู้เสพสื่อช่องทางนี้

ดังในกรณีของไข่เน่า มองว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐแบนช่องทางการรับชมอย่างพอร์นฮับ ตราบใดที่เซ็กซ์คือเรื่องปกติ ตำรวจจะกวาดล้างแหล่งสื่อลามกแค่ไหนก็ไม่มีทางหมดไป ทั้งยังเข้าทำนองยิ่งห้ามยิ่งยุ เหมือนที่ว่ากันว่า ข้อมูลคืออำนาจ (Information is power) การพยายามบิดบังอะไรก็ยิ่งทำให้คนอยากรู้ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีพัฒนามาไกลมาก ทุกอย่างทำได้ในมือถือ แบนในประเทศ หลายคนก็ใช้ VPN ไปดูของต่างประเทศ

ฉะนั้น เรื่องที่ควรให้ความสำคัญตอนนี้คือรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐควรไปศึกษาว่าจะใช้ทรัพยากรที่มีสร้างสื่อเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องของร่างกาย เซ็กซ์ ยังมีเพศวิถี เพศภาวะ อัตลักษณ์ทางเพศ ความสัมพันธ์แบบเฮลธ์ตี้ ความยินยอมพร้อมใจในการมีเพศสัมพันธ์ และอื่นๆ ให้สมบูรณ์แบบและเป็นระบบได้อย่างไร ต้องรู้เท่าทัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ในต่างประเทศ ก็มีซีรีส์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งเข้าถึงกลุ่มคนทุกวัยโดยเฉพาะวัยรุ่นให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และท้ายที่สุดก็จะสร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข

ขณะที่ รศ.ดร.นิธิดา แสงสิงแก้ว อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนความเป็นจริงของความเป็นสังคม อันแรกเราอยู่ในโลกที่เชื่อมต่อถึงกันและกันจนหมดจด เมื่อก่อนเรามีแมส มีเดีย ใครไปทำอะไรต้องผ่านแมส มีเดีย ผ่านทีวี ผ่านหนังสือพิมพ์ แต่ปัจจุบัน แม้แต่คำว่า โซเชียลมีเดียก็มีหลายเลเยอร์ และมีความเป็นซับเซตแต่ละแพลตฟอร์มด้วย ยิ่งทำให้มองเห็นว่า ในหนึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมมันเกี่ยวกันหมด ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงนี้ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือตำรวจต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่มันเกี่ยวข้องกับคนในสังคมไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

สิ่งหนึ่งที่เราต้องมองไปข้างหน้า คือ การเท่าทันสื่อ ความสามารถของการกรองข้อมูลข่าวสาร หรือการนำข่าวสารมาพูดต่อ ตรงนี้เป็นส่วนที่จะทำยังไงให้สังคมให้ความสำคัญกับการเท่าทันสื่อให้มากขึ้น และในยุคปัจจุบัน ควรจะเพิ่มเริ่มการเท่าทันสื่อดิจิทัลเข้าไปด้วย ซึ่งเด็กๆ ปัจจุบันนี้ เราเคารพในการเข้าถึงข้อมูล ความคิดความอ่าน แต่บางครั้งเท่าทันหรือเปล่า เราตระหนักไหมกับการที่มีข้อมูลส่วนตัว ภาพส่วนตัว เรื่องราวส่วนตัวเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มตรงนั้น และมันจะส่งผลลัพธ์อะไรกับเราต่อไปในอนาคต มันเหมือน Digital footprint ที่เราต้องทำความเข้าใจ ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ก็จะทิ้งรอยเท้า ที่จะสามารถถูกเอาข้อมูลของเราไปทำอะไรบางอย่างได้ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะกระทบกับเราทั้งเรื่องที่เป็นบวก กับเรื่องที่เป็นลบ ส่วนตัวมองว่าไม่เวิร์กแล้ว

สำหรับโลกที่ไปได้เร็วกับการที่คนจะมาวิ่งไล่จับว่าคนนี้ทำถูก คนนี้ทำผิด แต่ทำยังไงถึงจะกลับมาตั้งหลักในแง่ของตัวผู้ใช้สื่อที่ตระหนักรู้ ใช้มันอย่างมีสติ และรอบด้าน ถ้าผ่านกระบวนการบางอย่างที่คิดแล้วว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร มีการชั่งน้ำหนัก ให้ความสำคัญกับผลดีผลเสีย แล้วถ้าเกิดเขาตัดสินใจที่จะทำแบบนั้น ก็ต้องเคารพ แต่ถ้าเราเป็นคุณพ่อคุณแม่ของเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เราก็คงกังวลอยู่ไม่น้อย เราก็อาจจะต้องพยายามทำยังไงให้ไม่เกิดขึ้นแบบนี้ มันอยู่ที่ว่า เรายืนอยู่บนจุดยืนของใครที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ ส่วนตัวไม่ได้มองในแง่ของความถูกผิด แต่เคสนี้ถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์บางอย่างว่า ณ วันนี้ เรากำลังเผชิญอยู่แบบนี้ ในเรื่องของการใช้สื่อในโลกดิจิทัล ที่มันตีกลับมาหา เราที่มีทั้งบวกสุดสุด และลบสุดสุด

ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจในเรื่องการเท่าทันสื่อเข้าใจดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งถ้าเกิดความเข้าใจก็จะเกิดความระวัง จะติดเบรกมากขึ้น ซึ่งเคสนี้ทำให้สังคมมาทำความเข้าใจว่า ณ วันนี้สังคมมันเปลี่ยนแปลงไปยังไง มันกลายเป็นเรื่องที่เราเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องคุยกันมากขึ้น ในมุมของสื่อ ถ้าจะนำเรื่องนี้มานำเสนอต้องถามตัวเองหลายๆ ครั้งเหมือนกันว่า มีความตั้งใจในการนำเสนอเรื่องนี้เพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อเรตติ้ง ถ้าทำเพียงเท่านี้ต้องทบทวนบทบาทความเป็นสื่อของคุณ แต่ถ้าจะนำเสนอเรื่องนี้โดยการนำเคสนี้มาอธิบายความซับซ้อนของสังคมที่ ณ วันนี้เกิดอะไรขึ้น สะกิดสังคมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง อันนี้สามารถนำเสนอได้

ทั้งนี้ สื่อเป็นทั้งกระจกและตะเกียง ที่สะท้อนความเป็นจริง แต่ถ้าสามารถให้มุมมองหรือขยายมุมมองเพื่อให้สังคมไปในทิศทางที่พัฒนา น่าจะดีกว่าหรือเปล่า

นี่คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์สังคม!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image