ฉีดไฟเซอร์กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแล้ว 3 ราย ตาย 1 หมอยันพบน้อย-ประโยชน์มากกว่า

ฉีดไฟเซอร์กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแล้ว 3 ราย ตาย 1 หมอยันพบน้อย-ประโยชน์มากกว่า

เมื่อวันที่ 22 กันยายน รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ กล่าวชี้แจงกรณีพบอุบัติการณ์วัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในช่วงท้ายการแถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า อุบัติการณ์การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในประเทศอิสราเอล พบว่า เกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่การฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดมากขึ้น สืบเนื่องจากอิสราเอลได้ทำการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับประชากรในประเทศ ซึ่งทำให้สามารถควบคุมการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา หรือยูเอส ซีดีซี (US CDC) พบว่ามีอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 16 ราย ต่อการฉีดวัคซีนล้านโดส และปรากฏว่ามีความเชื่อมโยงกับอายุและเพศ ตั้งแต่อายุ 40 ปีลงมา อุบัติการณ์การเกิดจะสูงขึ้น ซึ่งช่วงอายุที่เกิดมากที่สุด คือ 17-24 ปี

“ในอเมริกาเอง เด็กติดโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งอเมริกาใช้วัคซีนหลักคือ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งได้ทำการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12-17 ปี ก็พบการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เฉลี่ย 60 รายต่อการฉีดวัคซีนล้านโดส จากเดิม 16 รายต่อการฉีดล้านโดส ซึ่งจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 6-8 เท่า” รศ.นพ.สุพจน์กล่าว

รศ.นพ.สุพจน์กล่าวอีกว่า การฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ของไฟเซอร์ ก็ต่างกัน ซึ่งเข็มที่ 2 อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะสูงกว่าเข็ม 1 ประมาณ 4-5 เท่า โดยจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เป็นความเสี่ยงที่รับได้ในกลุ่มประชากรที่อายุมากกว่า 18 ปี ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในประเทศไทยจะต้องพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดในเด็กนั้นมีมาก-น้อยเพียงใด ประกอบกับ อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ของเด็กในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ความเสี่ยงในอาการรุนแรงของโควิด-19 หรืออาการเชื้อลงปอดนั้นน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่บางครั้งก็มีกรณีที่เด็กเสียชีวิต เพราะมีโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ การได้รับวัคซีนไฟเซอร์จะช่วยไม่ให้เกิดอาการหนัก หรือรุนแรงได้

“รัฐบาลผลักดันให้เปิดโรงเรียน โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่การเปิดเรียนก็จะมีความเสี่ยงเช่นกัน แม้บุคลากรที่ดูแลนักเรียนจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วก็ตาม ก็ยังสามารถแพร่เชื้อให้เด็กได้ ทั้งนี้ เด็กเองก็ต้องฉีดวัคซีนเช่นกัน” รศ.นพ.สุพจน์กล่าว

Advertisement

รศ.นพ.สุพจน์ยังกล่าวถึงอาการที่พบบ่อยหลังจากได้รับวัคซีนไฟเซอร์ว่า จะมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจแล้วรู้สึกแน่น เหนื่อยง่าย เนื่องจากหัวใจทำงานได้ไม่ดี และหัวใจเต้นผิดจังหวะ (ทั้งช้าและเร็ว) ดังนั้น หลังการฉีดวัคซีนแล้ว ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการต่อไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หากมีอาการ จะเกิดในช่วงสัปดาห์แรก แต่ก็อาจจะยืดยาวไปถึง 1 เดือนได้ ซึ่งจะมีระบบติดตามผลหลังฉีดวัคซีน โดยปัจจุบันมีรายงานเข้ามา 3 ราย อายุระหว่าง 12-14 ปี และทำการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล (รพ.) ธรรมศาสตร์ รพ.ศิริราช และ รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง ทั้ง 3 รายนี้ ไม่มีอาการรุนแรง แต่ทั้งนี้ ยังมีอีกรายที่เสียชีวิต แต่ยังไม่มีรายละเอียดการเสียชีวิตที่พิสูจน์ได้ว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน

“แม้ความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะต่ำ แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้ โดย 3 รายที่กล่าวถึง ก็ค่อนข้างดี การทำงานหัวใจปกติ แต่ในระยะยาวเองก็บอกไม่ได้ว่า จะมีแผลเป็นหรือไม่ แต่การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร” รศ.นพ.สุพจน์กล่าว

รศ.นพ.สุพจน์กล่าวว่า สำหรับวิธีการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น ยังไม่มีข้อมูลป้องกัน แต่ยกตัวอย่างกรณี เด็กสิงคโปร์ อายุ 16 ปี ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วกลับไปออกกำลังกายหนัก ทำให้เกิดหัวใจหยุดเต้นทันที แต่สุดท้ายก็สามารถรักษาชีวิตไว้ได้ ทางสิงคโปร์เองจึงประกาศเตือนผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนภายใน 1 สัปดาห์ หลังการฉีด ไม่ควรออกกำลังหนัก แต่ในประเทศไทยยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าไม่ควรออกกำลังกาย แต่ไม่ควรหนักเกินไป และควรเว้นระยะเวลา 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ความเสี่ยงของคนไทยเป็นโรคหัวใจมากขึ้น และมีอุบัติการณ์การเกิดภาวะเบาหวานมากกว่ายุโรป รวมกับความเครียดที่เกิดมากขึ้น ภาวะอากาศที่ไม่ดี ฝุ่น pm2.5 ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจด้วย

Advertisement

“ความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยในไทย ไม่ได้ด้อยกว่าต่างประเทศ ไทยมีความสามารถในการดูแลคนไข้ครบทุกวงจร ทั้งนี้ วัคซีนทางเลือก หรือ mRNA สามารถกระตุ้นได้ดี อยากให้ผู้ปกครองสบายใจได้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบไม่ได้เกิดมากเท่ากับประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีน อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันกับแพทย์และผู้ปกครอง” รศ.นพ.สุพจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image