รพ.บุษราคัม ประกาศปิดตัว 30 ก.ย.นี้ สธ.มั่นใจเตียงโควิดกรุงเทพฯ เพียงพอ

รพ.บุษราคัม ประกาศปิดตัว 30 ก.ย.นี้ สธ.มั่นใจเตียงโควิดกรุงเทพฯ เพียงพอ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัด สธ.ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) บุษราคัม พร้อมด้วย 4 รองผู้อำนวยการ รพ.บุษราคัม ประกอบด้วย พญ.นภาพร สิงขรเขียว นพ.วิชิน โชติปฎิเวชกุล นพ.พงษ์ศักดิ์ นิติการุญ และ นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ แถลงข่าว ‘130 วัน ปฏิบัติการโรงพยาบาลบุษราคัม’

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า 130 วัน กับการปฏิบัติงานของ รพ.บุษราคัม ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ถึง วันที่ 20 กันยายน มีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 20,432 ราย ทั้งนี้ จากที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก และทำให้มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ สธ.จึงได้มีนโยบายจัดตั้ง รพ.สนามขนาดใหญ่ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ยังตกค้างอยู่โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากเมืองทองธานี จึงได้ทำการเปิด รพ.สนามบุษราคัม ในระยะแรกได้ทำการเปิดในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จำนวนเตียง 1,100 เตียง ระยะที่ 2 เปิดในวันที่ 28 พฤษภาคม เพิ่มจำนวนเตียง 1,100 เตียง รวมเป็น 2,200 เตียง และดำเนินการดูแลผู้ป่วยมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า จึงได้ทำการเปิดระยะที่ 3 ในวันที่ 4 กรกฎาคม จำนวน 1,500 เตียง รวมแล้วในขณะนั้นมีเตียงทั้งหมด 3,700 เตียง หลังจากเปิดได้เพียง 5 วัน ก็มีผู้ป่วยเข้ามานอนเต็มทุกเตียง ซึ่งโดยปกติจะรับผู้ป่วยใหม่มาแอดมิดไม่เกิน 100 คนต่อวัน แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคมมีผู้ป่วยใหม่มาแอดมิดประมาณ 300-400 คนต่อวัน

“หลังจากนั้น ก็มีคนไข้อาการหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นผู้ป่วยภายในของทาง รพ.บุษราคัม เอง เนื่องจากเราไม่ปฏิเสธผู้ป่วย เรารับผู้ป่วยในทุกประเภทที่ไปถึง รพ. ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยมีอาการหนัก เราเองกลับไม่สามารถที่จะส่งต่อไป รพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่าได้ เนื่องจากว่า รพ.ต่างๆ ที่เป็น รพ.ขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็มีภาระงาน มีเตียงที่ดูแลผู้ป่วยหนักเต็มแล้วเช่นเดียวกัน ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม รพ.บุษราคัมจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยที่เกินกว่าภารกิจ คือผู้ป่วยที่อาการหนักในระดับสีแดง-แดงเข้ม ในบางครั้งมีการใส่เครื่องช่วยหายใจชนิดไฮ โฟลว์ ถึง 200 ตัวต่อวัน มีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเครื่องช่วยหายใจ 10 คนต่อวัน

Advertisement

ดังนั้น ในช่วงนั้นเองจึงได้ขออนุมัติจากศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินในการขอเปิดหอผู้ป่วยวิกฤต เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอีก 17 เตียง ในวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผู้ป่วยจาก รพ.บุษราคัม ทั้งหมด และยังมีผู้ป่วยที่ต้องการใส่เครื่องช่วยหายใจอีกจำนวนมาก จึงขออนุมัติเปิดหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตอีก 32 เตียง เมื่อวันที่ 1 กันยายน” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวถึงผลการดำเนินการของ รพ.บุษราคัม ในช่วง 130 วัน ว่า สามารถดูแลผู้ป่วยไปทั้งหมด 20,289 ราย ผู้ป่วยวิกฤต 92 ราย กึ่งวิกฤต 55 ราย อย่างไรก็ตาม จากมาตรการต่างๆ นั้นส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนกันยายน และพบว่าในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่ติดต่อ รพ.บุษราคัม น้อยลงมาก โดยมีประมาณ 5 รายต่อวัน ซึ่งผู้ป่วยรายอื่นก็ได้รักษาจนหาย และกลับบ้านไปหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน

Advertisement

“จึงได้มีข้อสรุปว่า สธ.จะปิดให้บริการ รพ.บุษราคัม โดยกำหนดรื้อถอนให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 กันยายนนี้ และมอบพื้นที่คืนให้กับอิมแพ็คอารีนา ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจาก รพ.บุษราคัม ปิดตัวแล้ว แต่ในกรุงเทพฯ ยังพบผู้ป่วยอยู่ กรณีนี้จะสามารถไปใช้บริการได้ที่ไหน นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กรณีไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยจะถูกนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้าน หรือ โฮม ไอโซเลชั่น (HI) และการรักษาแบบชุมชน หรือ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (CI) มี รพ.สนาม ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจำนวนมากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทั้งการขยายทรัพยากรทางด้านโครงสร้าง ห้องไอซียู (ICU) หลายส่วน ทำให้มีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยอาการหนักเพียงพอในขณะนี้ ในส่วนของตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 รายวันลดลงตามลำดับ ซึ่งตัวเลขนี้เทียบกับสัดส่วนของประชากรแล้ว ถือว่าไม่มาก แต่ในส่วนของผู้เสียชีวิตในรุงเทพฯ นั้น ลดน้อยลงอย่างชัดเจน

“ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนได้เลยว่า ระบบการแพทย์โดยเฉพาะระบบบริการเตียงผู้ป่วย และระบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกรุงเทพฯ มีความมั่นคงและเพียงพอในขณะนี้” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image