รองผอ.นิติวิทย์นำร่าง’ธวัชชัย’จนท.ที่ดินพังงาผูกคอดับ X-ray 3มิติ สแกนกระดูก

รองผอ.นิติวิทย์ นำร่างจนท.ที่ดินพังงาผูกคอดับ เอกซเรย์ 3 มิติ สแกนกระดูก เชิญผู้เชี่ยวชาญอ่านฟิล์ม 27 ก.ย. ในการประชุมกรรมการสอบข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของนายธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าหน้าที่ที่ดินพังงา ระหว่างการควบคุมตัว กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาตนและเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้นำศพของนายธวัชชัยไปเข้าเครื่องเอกซเรย์ ซีที ทรีดี สแกน (X-ray CT 3D scan) ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นระบบ 3 มิติ จะสแกนกระดูกในทุกส่วนของร่างกายได้อย่างละเอียด ซึ่งระบบได้บันทึกภาพกว่า 9,000 ภาพ เป็นฟิล์มเอกซเรย์ ทั้งนี้ในส่วนประเด็นข้อสงสัยในเรื่องของกระดูกกล่องเสียง หรือซี่โครงหักเครื่องได้บันทึกผลและตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว แต่ตนจะไม่เปิดเผย เนื่องจากในวันที่ 27 ก.ย.นี้คณะกรรมการจะมีการประชุมหารืออีกครั้งและจะเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรังสีแพทย์ในการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ มาแปลผลฟิล์มเอกซเรย์ดังกล่าวอีกครั้ง เครื่องมือดังกล่าวทำให้ไม่ต้องมีการผ่าชันสูตร เพียงแค่นำร่างผู้ตายทั้งร่างผ่านเครื่องเอกซเรย์ ซีที ทรีดี สแกน ก็สามารถมองเห็นทุกส่วนของโครงกระดูก ข้อต่อต่างๆ ได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามในวันนี้ญาติของนายธวัชชัยไม่ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ตามเวลาที่มีการนัดหมายไว้

นพ.ไตรยฤทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการทำซีทีสแกนในวันนี้ เจ้าหน้าที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เวลา 10.30 น. จนถึงประมวลภาพเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 14.00 น. ได้ถ่ายภาพไว้ทุกขั้นตอน ประกอบด้วยถ่ายภาพยืนยันว่าศพที่เอกซเรย์เป็นศพของนายธวัชชัยจริง ประกอบกับเวลาที่ดำเนินการ จากนั้นนำเข้าเครื่องเอกซเรย์และถ่ายคลิปขณะเอกซเรย์ ต่อมาสแกนทั้งตัว สแกนรายละเอียดแยกส่วน แบ่งเป็นศีรษะถึงคอ ช่วงอก ช่วงท้อง ก่อนประมวลภาพ ทั้งภาพนิ่งและทำภาพ 3 มิติ ความยากของการทำงานนั้นศพเคยถูกผ่ามาก่อนจึงทำให้อวัยวะบางส่วนอยู่ในตำแหน่งที่เปลี่ยนไป

“ผลของการสแกนครั้งนี้เป็นเพียงข้อมูลประกอบข้อสงสัยของกรรมการ ในบางจุด คือเรื่องกระดูกกล่องเสียง หรือซี่โครงหักส่วนใดบ้าง เครื่องมือดังกล่าวก็ช่วยให้เกิดการตรวจสอบตามหลักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป แต่ไม่สามารถบ่งชี้ถึงสาเหตุการตาย เป็นคนละส่วนกัน หลังจากนี้ก็คงต้องรอการอ่านค่าประเมินผลฟิล์มเอกซเรย์จากผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นคณะกรรมการก็จะพิจารณาข้อมูลในหลายส่วน เครื่องมือดังกล่าวสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ใช้ดำเนินการทางนิติวิทยาศาสตร์ในกรณีทั่วไปมาหลายครั้งแล้ว ไม่ใช่ครั้งแรกที่นำใช้กับกรณีดังกล่าว แต่กรณีดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งทุกขั้นตอนมีการบันทึกภาพการดำเนินการตลอดเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบการทำงานได้” นพ.ไตรยฤทธิ์กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image