สกู๊ป น. 1 : เจาะลึกท่วม‘ชัยภูมิ’ หนักสุดรอบ50ปี

เจาะลึกท่วม‘ชัยภูมิ’ หนักสุดรอบ50ปี

ขณะนี้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัด จนหลายคนวิตกว่าจะซ้ำรอยมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 หรือไม่

แต่สำหรับ จ.ชัยภูมิ น้ำท่วมครานี้สาหัสกว่าปี 2554 เพราะหนักสุดในรอบกว่า 50 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน หลังเกิดพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ถล่มหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้ง จ.ชัยภูมิ เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน จนเกิดน้ำป่าหลากรุนแรง จากนั้นไหลบ่าเข้าท่วมทั่วทั้ง จ.ชัยภูมิ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งใจกลางเมืองโซนเศรษฐกิจและหลายอำเภอรอบนอกจมบาดาลอย่างรวดเร็ว

กระทั่งวันที่ 28 กันยายน จ.ชัยภูมิต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติน้ำท่วมรวม 14 อำเภอ จากทั้งหมด 16 อำเภอ ประกอบด้วย เมืองชัยภูมิ, คอนสวรรค์, เนินสง่า, บ้านเขว้า, จัตุรัส, บำเหน็จณรงค์, เทพสถิต, ภักดีชุมพล, หนองบัวระเหว, หนองบัวแดง, เกษตรสมบูรณ์, ภูเขียว, คอนสาร และบ้านแท่น (เหลือแค่ 2 อำเภอที่ยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติคือ แก้งคร้อและซับใหญ่ แต่ก็หนีไม่พ้นถูกน้ำท่วมเสียหายบางส่วนไป แถมมีผู้ถูกน้ำป่าหลากพัดจมน้ำเสียชีวิตอีก 1 ราย)

ย้อนไปปี 2554 ที่เกิดฝนตกหนัก มีพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า 180,000 ไร่ แต่วิกฤตน้ำท่วมปี 2564 นี้สร้างความเสียหายกว่า 228,840 ไร่ ที่หนักสุดคือเขตอำเภอเมือง ย่านเศรษฐกิจกลางใจเมืองทั้งหมดจมบาดาล เฉพาะในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิเกือบทั้งหมดถูกน้ำท่วมเป็นวงกว้างกว่า 68,324 ไร่

Advertisement

นอกจากนี้โซนเศรษฐกิจใน 4-5 อำเภอก็หนักหนา อาทิ อ.บำเหน็จณรงค์ ซึ่งตั้งแต่ตั้งอำเภอมาเกิดน้ำท่วมหนักสุดเมื่อปี 2554 น้ำเคยท่วมใหญ่ถึงเพียงหน้า รพ.บำเหน็จณรงค์ แต่ปี 2564 นี้ แม่น้ำชีหลากทะลักไม่ถึงชั่วโมงเข้าท่วม รพ.บำเหน็จณรงค์ ถึงชั้น 2 ของตัวตึก รพ. รถยนต์ที่จอดภายใน รพ.ทั้งหมดถูกน้ำหลากท่วมมิดหลังคา เจ้าหน้าที่ รพ.ต้องเร่งอพยพทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์กว่า 250 ชีวิต หนีน้ำที่มาอย่างรวดเร็วขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 ของ รพ. เพื่อรอการช่วยเหลือ

แต่เจ้าหน้าที่จากข้างนอกไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที เพราะกระแสน้ำแรงมาก ต้องรอข้ามวันจนน้ำลด จึงระดมกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ฝ่ากระแสน้ำช่วยอพยพผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ออกมาได้ แต่กว่าจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลาถึง 2 วัน หลังน้ำลด สภาพภายใน รพ.และบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงถูกน้ำซัดพังเสียหาย คล้ายสึนามิถล่มเมือง นอกจากนี้น้ำป่ายังทะลักลงไปตามรอยต่ออำเภอใกล้เคียงที่ อ.จัตุรัส ก็หนักสาหัสอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน ระดับน้ำเข้าท่วมเป็นวงกว้างเกือบยกอำเภอ

บ้านหลายหลังเกือบมิดหลังคา ชาวบ้านต้องหนีตายกันอลหม่านกลางดึกไปนั่งบนหลังคาบ้านตลอดทั้งคืน ขณะที่หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งทหารจากกองทัพภาคที่ 2 และเจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาต่างๆ จากทั่วประเทศ เข้ามาเสริมกำลังในพื้นที่เพราะมีไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือชาวบ้านหลายคนที่ถูกตัดขาด ต้องติดอยู่ภายในบ้านนานนับสัปดาห์ โดยน้ำยังไม่มีแนวโน้มว่าน้ำจะลดลงง่ายๆ ขณะที่น้ำท่วมหนักเมื่อปี 2554 ยังพอมีทางขนส่งสิ่งของความช่วยเหลือเข้ามาได้

Advertisement

แต่ปีนี้น้ำท่วมหนักทุกด้าน ทั้งถนนหนทางแทบทุกอำเภอไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ถนนกลายเป็นคลองเกือบทุกสาย เส้นทางถนนสาย 201 สีคิ้ว-ชัยภูมิ ประตูสู่อีสาน ที่ไปเชื่อมต่ออีกหลายจังหวัด ถูกตัดขาด การตั้งโรงทานประกอบอาหารช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมก็ทุลักทุเล ในแต่ละวันต้องนำวัตถุดิบพืชผักเนื้อหมู ไก่ มาประกอบอาหารเป็นข้าวกล่อง เฉพาะในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ใน 3 ช่วงคือเช้า-เที่ยง-เย็น ต้องการวันละ 3 หมื่นกล่อง แต่ทำได้แค่ไม่เกินเที่ยวละ 6,000 กล่อง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

วันที่ 29 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมปัญหาน้ำท่วมที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของมารดา พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะมีคนมาให้กำลังใจนายกฯ แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนที่เดือดร้อนออกมาแสดงความไม่พอใจ

เมื่อไล่ที่มาที่ไปการเกิดน้ำท่วม เริ่มจากอิทธิพลพายุต่างๆ ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องจนเกิดน้ำป่าหลาก ซึ่งพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เป็นแหล่งเทือกเขาป่าต้นน้ำและเป็นจังหวัดต้นกำเนิดแม่น้ำชี ซึ่งอยู่บนภูเขียว ใน ต.บ้านโหล่น-โนนเหม่า อ.หนองบัวแดง คาบเกี่ยวพื้นที่รอยต่อเทือกเขาอีก 3 จุดหลัก ทั้งเทือกเขาภูเขียว (รอยต่อ อ.ภูเขียว, หนองบัวแดง, คอนสาร, เกษตรสมบูรณ์) เทือกเขาพังเหย (รอยต่อ อ.หนองบัวระเหว, ซับใหญ่, ภักดีชุมพล, เทพสถิต, บำเหน็จณรงค์ (บางส่วน) และเทือกเขาภูแลนคา (อ.เมืองชัยภูมิ, แก้งคร้อ, คอนสวรรค์ (บางส่วน) เกษตรสมบูรณ์ (บางส่วน), หนองบัวแดง (บางส่วน) ทั้งนี้ ปี 2554 มีฝนตกสะสมสูงสุดกว่า 200 มิลลิเมตร/วัน ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ในปี 2564 อย่างพายุเตี้ยนหมู่ฝนตกหนักกว่า 300 มิลลิเมตรต่อวัน

ขณะที่ จ.ชัยภูมิ มีแหล่งเก็บกักน้ำทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก รับน้ำได้ไม่เกิน 800 ล้าน ลบ.ม. แต่ฝนตกและน้ำหลากมีปริมาณมากกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. เกินความจุอย่างมาก จึงเกิดน้ำท่วมหนักอย่างกว้างขวาง

“พงษ์ศักดิ์ ณ ศร” ชลประทานจังหวัดชัยภูมิ ให้ความเห็นว่า วันนี้เกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัด รวมทั้งจังหวัดชัยภูมิ เดิมเมื่อปี 2554 ที่ว่าเกิดน้ำท่วมหนักครั้งใหญ่สุดแล้ว มาวันนี้ กลับน้ำท่วมหนักกว่าเดิม ปัญหานี้ จะแก้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เรามีพื้นที่เก็บกักน้ำก็เพื่อไว้ใช้ทั้งเสริมด้านการพลังงานและการเกษตร จ.ชัยภูมิ มีเขื่อนขนาดใหญ่ กลางและเล็ก สามารถเก็บกักได้ทั้งหมดไม่เกิน 800 ล้าน ลบ.ม. แต่เริ่มมีความรุนแรงของธรรมชาติ มีปริมาณน้ำฝนตกลงมานอกพื้นที่เก็บกัก และที่ไหลเข้าเขื่อน

อ่างเก็บกักที่มีทั้งหมด ไหลสู่แม่น้ำชี รวมสูงกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าสูงมาก “วันนี้เรามีแหล่งเก็บน้ำไม่เพียงพอแล้ว ทั้งจากปัญหาคูคลองที่มีการรุกล้ำ ทำให้ตื้นเขิน ทางน้ำเปลี่ยน ดังนั้น ปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ทุกภาคส่วนและประชาชนต้องเข้าใจธรรมชาติ เมื่อน้ำมามากเกิน ไม่มีจุดรองรับพอก็ท่วม ดังนั้น น้ำท่วมครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องเรียนรู้และถอดบทเรียนเพื่อป้องกันและแก้ไขได้ทันท่วงที” ชลประทานจังหวัดชัยภูมิแนะนำ หากไม่มีการถอดบทเรียนเหตุน้ำท่วมใหญ่ จ.ชัยภูมิ ที่หนักสุดรอบ 50 ปีครั้งนี้

ในอนาคตก็คงหนีไม่พ้นวังวนวิกฤตน้ำท่วมหนักซ้ำซากต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image