สทนช.ชี้พายุเข้าไทยหลัง 10 ต.ค. ไม่กระทบระดับน้ำมากนัก

สทนช.ชี้พายุเข้าไทยหลัง 10 ต.ค. ไม่กระทบระดับน้ำมากนัก

เมื่อวันที่ 30 กันยายน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงเดือนตุลาคมนี้ จะเกิดพายุอีก 1-2 ลูก แต่ทั้ง 2 ลูก ไม่ได้มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง หากพายุเข้ามาหลังวันที่ 10 ตุลาคม จะไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำมากนัก เบื้องต้น กอนช.ได้มีการประกาศเตือนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ขณะเดียวกันในช่วง 10 วันหลังจากนี้ กรมอุตุฯ คาดว่าจะมีฝนตกในพื้นที่ภาคใต้จากอิทธิพลของลานีญาอีกด้วย

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน จากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงในเห็นถึงพื้นที่เกิดน้ำท่วม เมื่อวันที่ 20-26 กันยายนที่ผ่านมา จำนวน 19 จังหวัด รวมทั้งหมด 1.38 ล้านไร่ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สุโขทัย มีพื้นที่น้ำท่วมกว่า 3.62 แสนไร่ เป็นผลมาจากน้ำในเขื่อนแม่มอกที่ไหลมาสมทบ เป็นเหตุให้ฝั่งตะวันตกของสุโขทัยเกิดน้ำท่วมหนัก แม้จะมีความพยายามผันน้ำเข้าสู่ทุ่งบางระกำแต่ก็เป็นผลไม่มากนัก

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การผันน้ำดังกล่าวยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพราะในที่สุดแล้วน้ำก้อนนี้ต้องมารวมที่ จ.นครสวรรค์ และถูกปล่อยลงไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด ส่วนการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2,775 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ยังมีแนวโน้มที่จะระบายน้ำมากกว่าปัจจุบันเล็กน้อยในช่วงเช้าของวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะส่งผลต่อจังหวัดใกล้เคียงอย่าง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่จะเกิดน้ำท่วมขังอีกประมาณ 3 วัน แต่เชื่อว่าจะยังไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ชั้นใน เพราะน้ำทะเลยังไม่หนุนสูง ปล่อยน้ำลงไปได้อยู่

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 2-8 ตุลาคมนี้ จะต้องเร่งระบายน้ำในพื้นที่ ก่อนประเทศไทยจะมีฝนกลับเข้ามาเพิ่มอีกครั้งในวันที่ 8-9 ตุลาคมนี้ ขณะที่แผนการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะลดการระบายน้ำจาก 1.2 พันล้าน ลบ.ม./วินาที ลง เพื่อให้ระดับน้ำให้แม่น้ำป่าสักทยอยออกไปก่อน สำหรับปริมาณน้ำปัจจุบันในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ที่ 1,014 ล้าน ลบ.ม. ในการระบายน้ำออกจากเขื่อนจะมีการลดระดับน้ำเป็นขั้นบันไดต่อไป เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

Advertisement

“แม้จะกำหนดวันที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายอย่างชัดเจนไม่ได้ แต่ สทนช.ขอขีดเส้นตายแก้ไขทุกปัญหาให้จบภายใน 20 วัน” นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งได้เพียง 348 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำในพื้นที่จากฝนที่ตกในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากกว่า 2,700 ลบ.ม./วินาที ด้านสถานการณ์น้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันปริมาณน้ำ 950 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99 % ของความจุอ่าง และ จะเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยควบคุมการปิด – เปิด ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image