พม.สรุปผลสอบ ขรก.ทุจริต ตรวจย้อนหลัง 1 ปีโกงอื้อ 35 ล้าน สั่งสอบอีก 3 บกพร่องในหน้าที่

อธิบดี พก.แถลงสรุปผลสอบ ‘พิศาล’ ทุจริตจริง 35 ล้านบาท หลังตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง 1 ปี สั่งตั้งสอบ ขรก.อีก 3 รายบกพร่องในหน้าที่-หาเงินคืนรัฐ

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่อาคารกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ บ้านราชวิถี กรุงเทพฯ นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการแถลงข่าวความคืบหน้าการสอบสอบข้อเท็จจริง กรณี นายพิศาล สุขใจธรรม นักพัฒนาสังคมชำนาญการ กรม พก. ทุจริตโอนเงินนอกงบประมาณจากบัญชี พก.เข้าบัญชีตัวเอง 13 ล้านบาท ว่า จำนวนเงินที่นายพิศาลได้ทำการเบิกจ่ายจากบัญชีเงินฝากคลังของเงินนอกงบประมาณ พก.เข้าบัญชีส่วนตัวหรือทุจริต รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 35,285,500 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นเงินฝากคลังซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณมี 2 รายการคือ 1.รายการเงินประกันสัญญาที่ผู้รับจ้างวางไว้ค้ำสัญญา 2.เงินบริจาคที่มีผู้บริจาคให้กับสถานสงเคราะห์ของ พก. 22 แห่ง เงินตรงนี้ พก.จะใช้กรณีที่เงินงบประมาณไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ส่วนที่ยังไม่ใช่เพราะยังไม่มีรายการที่จะเบิกจ่าย จึงเก็บไว้ในบัญชีเงินนอกงบประมาณ

ทั้งนี้ สำหรับพฤติกรรมเกิดเหตุเกิดจากผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานมีความไว้เนื้อเชื่อใจนายพิศาล ประกอบกับนายพิศาลเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIF) และจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (KTB) รวมถึงทุกคนรวมถึงผู้บังคับบัญชาที่กำกับงานจึงไว้ใจนายพิศาล ทำให้นายพิศาลได้รับรู้รหัสในการเบิกจ่าย และสามารถดำเนินการคนเดียวได้เบ็ดเสร็จทั้งหมด

ซึ่งจากข้อเท็จจริงตรงนี้ทำให้พบเบื้องต้นมีผู้เกี่ยวข้อง ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามอำนาจที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติงานทั้งหมด 3 ราย ซึ่ง พก.จะตั้งคณะกรรมการสอบวินัย รวมถึงสอบข้อเท็จริงความรับผิดชอบทางละเมิดคู่ขนานไปด้วย เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายตรงนี้ต่อไป

นางสาวสราญภัทร กล่าวอีกว่า สำหรับตัวนายพิศาลมีคำสั่งให้ออกจากราชการเรียบร้อยแล้ว มีการดำเนินคดีอาญากับนายพิศาล ขณะนี้อยู่ในอำนาจการดำเนินการของพนักงานสอบสวน โดยได้ขออำนาจฝากขังต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และทางศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดี

Advertisement

ถามจำนวนเงิน 35 ล้านบาท ตรวจสอบย้อนหลังไปกี่เดือน อธิบดี พก. กล่าวว่า ประมาณ 1 ปีงบประมาณ คือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 หรือตุลาคม 2563 เบื้องต้นยังได้ตรวจสอบย้อนหลังปีไปกว่านั้น แต่ยังไม่พบความผิดปกติ ส่วนเจ้าหน้าที่ พก. 3 ราย ที่ตั้งสอบนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบ สมมุติว่ามีหน้าที่ถือพาสเวิร์ดเข้าระบบบัญชี แต่เขาไม่ทำหน้าที่ไปให้นายพิศาลทำเนื่องจากความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้นายพิศาลรู้และจัดการคนเดียวเบ็ดเสร็จ ถือเป็นการบกพร่องในหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 รายเป็นผู้รับผิดชอบด้านการเงินการคลัง

ถามถึงบทลงโทษเจ้าหน้าที่ 3 ราย อธิบดีพก. กล่าวว่า ต้องดูคณะกรรมการสอบวินัยพิจารณา ว่าพบความเกี่ยวข้องมากกว่าที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นหรือเปล่า หากเห็นมากกว่า ก็จะแล้วแต่อัตราโทษที่คณะกรรมการสอบวินัยพิจารณา ทั้งนี้ การสอบวินัยตามกรอบกฎหมายให้เวลาไม่เกิน 180 วัน และขณะนี้ทั้ง 3 ได้ถูกสั่งย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ด้านอื่นแทนด้านการเงินและบัญชีอธิบดีแล้ว

ถามว่าจะป้องกันการทุจริตจากนี้อย่างไร อธิบดี พก. กล่าวว่า ได้เปลี่ยนพาสเวิร์ดใหม่ พร้อมกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้าทำงานตรงนี้ใหม่ และวางแนวทางการเงินการบัญชีใหม่ทุกกรม ซึ่ง นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.ได้นำผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาประชุมกับเจ้าหน้าที่บัญชีทุกกรมใน พม.อุดช่องว่างตรงนี้ โดยในส่วน พก.ทางผู้เชี่ยวชาญจะมาประเมินและดูเส้นทางทำงาน เพื่ออุดช่องว่างทั้งหมดในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ นอกจากนี้ เราได้ประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์นายพิศาล เพื่อนำเงินมาคืนต่อไป

Advertisement

ถามถึงผลกระทบจากเงิน 35 ล้านที่หายไป นางสาวสนธยา บุณยภูษิต รองอธิบดี พก. กล่าวว่า เงินที่ถูกทุจริต 35 ล้านเป็นเงินนอกงบประมาณ ซึ่งยอดเงินนี้ไม่ได้รับมาเฉพาะในปี 2564 และมีกำหนดต้องใช้ในปี 2564 เพราะเป็นเงินสะสมมา หากจะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ แต่เพื่อแก้ปัญหารองรับกรณีเงินประกันสัญญา อธิบดี พก.ได้สั่งการให้ผู้ที่มีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ ประสานหน่วยงานทั้ง 22 แห่งให้ตรวจสอบว่ามีรายการไหนที่ต้องจ่ายในระยะอันใกล้นี้ เพื่อเตรียมการจ่ายเงินตามระเบียบที่กฎหมายกำหนดต่อไป เพื่อให้สามารถดำเนินได้

นางสาวสนธยา บุณยภูษิต รองอธิบดีพก. กล่าวอีกว่า วงเงินในประกันสัญญาเท่าที่ดูเบื้องต้นจะต้องจ่ายคืนผู้ประกันภายในธันวาคมนี้อยู่ที่ประมาณหลักแสน ตามระเบียบวิธีปฏิบัติกรณีการเยียวยาความเสียหายให้บุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบการทุจริตของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ มีการกำหนดแนวทางเยียวยาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การสอบข้อเท็จจริงการรับผิดทางละเมิดเป็นอีกกระบวนการหาตัวผู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่ควบคู่การสอบวินัย

กรณีที่ปรากฎความเสียหายเกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐและคาดจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดความเสียหายนั้นด้วย จะต้องสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดเพื่อดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดให้ได้ความเสียหายที่แท้จริง ซึ่งอาจจะเป็นยอดเงินที่สูญเสียไป และต้องดูว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้ใดต้องรับผิชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

“กรณีนี้คนที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดคือนายพิศาล โดยหลักถ้าสอบสวนแล้ว คนทุจริตเพียงคนเดียว หลักก็ต้องเรียกทรัพย์คืนจากผู้ก่อเหตุเต็ม 100% แต่หากปรากฎผู้ก่อเหตุไม่ได้ชดใช้ตามยอดที่เสียหาย ก็จะปันส่วนไปยังเจ้าหน้าที่ผู้อื่นที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามราชการตามที่ควรเป็น จนเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริต ส่วนทรัพย์ที่ยึดจากนายพิศาลมีมูลค่าเท่าไหร่อยู่ที่ปปง.ตรวจสอบและไปยึดทรัพย์ รวมถึงสืบถึงเส้นทางการเงินที่มีเชื่อมโยงส่งต่อไปถึงใครหรือไม่อย่างไร” นางสาวสนธยากล่าวและว่า

เราดำเนินการทางวินัยและทางละเมิด ส่วนตำรวจก็ดำเนินการทางคดีอาญาและส่งต่อปปช.ตรวจสอบ การดำเนินการเราก็ต้องการปิดช่องทุกด้าน ก็มีการประสานไปยังปปง.สอบเส้นทางการเงิน หากปรากฎมีทรัพย์สินทางการเงินก็ให้ดำเนินการยึดอายัดเพื่อส่งคืนราชการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image