ถึงคิวใช้กม.กำจัด แหล่งเพาะ’ยุงลาย’

ทันทีที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เอาจริงเอาจังกับการควบคุม “ยุงลาย” เพื่อลดอัตราเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับยุง ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคซิกา

และโรคชิคุนกุนยา โดยจะนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้อย่างเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าบ้านใดมีดัชนีลูกน้ำยุงลายเกินค่าที่กำหนด หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานจะมีความผิดตามกฎหมาย

แน่นอนว่า เมื่อมีกระแสข่าวนี้ก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

กฎหมายนี้ประกาศใช้มาตั้งแต่ 14 ปีก่อน แต่ยังไม่ค่อยเข้มงวด กระทั่งล่าสุดพบว่ามีคนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคที่มียุงเป็นพาหะเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะไข้เลือดออก ที่พบผู้ป่วยในรอบสัปดาห์สูงกว่า 2,000 คน และตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยแล้วกว่า 38,000 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 31 ราย แม้ภาครัฐจะมีมาตรการควบคุม เฝ้าระวังโรคอย่างสม่ำเสมอ ทำงานเชิงรุกอย่างไร แต่ก็ไม่เป็นผล

Advertisement

การขอความร่วมมือด้วยมาตรการ 3 เก็บ เก็บแหล่งน้ำ เก็บบ้าน เก็บรอบบ้าน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ สธ.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รณรงค์มาตลอด แต่ทว่ายังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากประชาชนเท่าที่ควร จึงไม่แปลกที่เมื่อเกิดการระบาดของโรคที่มากับยุงในพื้นที่ใดๆ ก็ตาม เจ้าหน้าที่มักจะสำรวจพบว่าบริเวณนั้นมียุงอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่าพื้นที่อื่นๆ เสมอ

นพ.ดนัย ธีวันดา
นพ.ดนัย ธีวันดา

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย สธ. อธิบายถึงกฎหมายดังกล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ และแต่งตั้งเจ้าพนักงานสาธารณสุขเพิ่มเติม เพื่อการปฏิบัติการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ประกาศดังกล่าวใช้เมื่อปี 2545 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 (5) และมาตรา 5 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535

สำหรับจุดประสงค์ของกฎหมายนี้ไม่ได้มุ่งหวังการจับกุมลงโทษขั้นรุนแรง แต่ต้องการปรามและกำชับให้ประชาชนดูแลอาคาร บ้านเรือน รวมทั้งสถานประกอบการของตนเอง ไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจนเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการจับปรับ หรือจำคุก แม้กฎหมายจะระบุโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาทก็ตาม แต่ที่ระบุโทษดังกล่าวก็เพื่อป้องกันกรณีเกิดการขัดขวางเจ้าพนักงานระหว่างปฏิบัติหน้าที่ควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หรือเมื่อมีการตักเตือนขอให้ปรับปรุงหลายต่อหลายครั้ง แต่เจ้าของบ้านไม่ดำเนินการ และยังคงสร้างปัญหาให้เกิดความรำคาญกับบุคคลอื่นก็จะมีการดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น

Advertisement

นพ.ดนัยกล่าวว่า ตั้งแต่มีกฎหมายยังไม่เคยมีการจับปรับใคร เพราะส่วนใหญ่เมื่อเจ้าพนักงาน ซึ่งในภูมิภาคจะเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ลงพื้นที่ตรวจก็มักจะเป็นการว่ากล่าวตักเตือนมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านก็พร้อมปรับปรุง ไม่ได้มีปัญหาใดๆ หากมีการจับปรับก็จะเป็นมาตรการในหมู่บ้านที่ตกลงกันเอง

“หากเจ้าพนักงานต้องจับปรับจริงๆ แล้วมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้ แต่ในเรื่องแหล่งเพาะพันธุ์ยุงก็ไม่เคยมีการอุทธรณ์ เพราะไม่มีการจับปรับ เป็นการพูดคุยกันมากกว่า ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด แต่ก็ยอมรับว่ายังมีหลายพื้นที่ที่ยังมีปัญหาแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ ซึ่ง อสม.

รวมทั้ง อสส.ก็อาจเข้าไม่ถึง จึงอยากขอความร่วมมือในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยมาตรการ 3 เก็บ ที่สำคัญในการออกตรวจของ อสม.และ อสส. หากเป็นช่วงระบาด หรือช่วงหน้าฝน จะออกตรวจทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นวงจรชีวิตยุงลายพอดี แต่หากเป็นช่วงปกติจะออกตรวจทุกเดือน” นพ.ดนัยกล่าว

สำหรับประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวได้มีการส่งต่อให้เทศบาล ท้องถิ่นต่างๆ ในการออกข้อบัญญัติ หรือข้อกำหนดของท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นไปแล้วกว่า 1,375 แห่ง นอกจากนี้ยังมีอีก 11 จังหวัดเพิ่มเติมภายหลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมีท้องถิ่นออกข้อกำหนดแล้ว 313 แห่ง

นพ.อำนวย กาจีนะ
นพ.อำนวย กาจีนะ

จริงๆ แล้วไม่เพียงแต่ประกาศกระทรวงฉบับนี้ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ.บอกว่า ในแง่ของการปฏิบัติงานเมื่อเกิดโรคจากยุงลาย ไม่ว่าจะไข้เลือดออก ซิกา ล่าสุดมี พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งประกาศใช้ไปเมื่อเดือนเมษายน 2559 โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำงานผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน ซึ่งหากพบว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น ในหลักการจะส่งเรื่องผ่านคณะกรรมการวิชาการ ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เป็นประธาน จะทำหน้าที่ในการพิจารณาว่าโรคดังกล่าวเป็นโรคระบาดหรือไม่ หากเป็นจะเสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อควบคุมพื้นที่เกิดโรค โดยหากภายในประเทศอธิบดีมีอำนาจลงนาม แต่หากต้องควบคุมระหว่างประเทศจะเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการ สธ.

เมื่อตามขั้นตอนมีการประกาศพื้นที่โรคระบาดก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปควบคุมโรค เช่น หากเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ก็ต้องไปดูว่าพื้นที่นั้นมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายหรือไม่ หากมีเจ้าพนักงานก็จะไปจัดการ เช่น กลบ ฝัง ฯลฯ แต่หากมีการขัดขวางเจ้าพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ

ก็จะมีโทษปรับสูงถึง 20,000 บาท เนื่องจากเป็นพื้นที่ระบาดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด บ้านใดไม่อยากถูกกฎหมายเล่นงาน

ซึ่งก็ไม่ได้เล่นงานกันง่ายๆ ก็แค่ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

คนละไม้คนละมือ แค่นี้ก็ลดความเสี่ยงได้ถึง 3 โรค

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image