กทม.-จับมือ 6 จว.ปริมณฑล วางแผนป้องท่วม ‘อัศวิน’ ลั่นเอาอยู่ อย่าเรียกท่วม ให้เรียก ‘น้ำมาก’

กทม.-จับมือ 6 จว.ปริมณฑล วางแผนป้องท่วม ‘อัศวิน’ ลั่น! เอาอยู่ อย่าเรียกว่าน้ำท่วม เรียก ‘น้ำมาก’

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ แบบบูรณาการระหว่าง กทม. จังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลาก โดยมีผู้บริหาร กทม. ผู้บริหาร 6 จังหวัดปริมณฑล ประกอบด้วย นครปฐม ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาทิ กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กอ.รมน.กทม. (ฝ่ายทหาร) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะกรรมการการอาชีวศึกษา กองบังคับการตำรวจจราจร ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยาให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่จะมีน้ำมากอีกช่วงหนึ่งคือช่วงที่มีพายุคมปาซุ ที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาในวันที่ 13-14 ตุลาคม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากนั้นจะเกิดฝนตั้งแต่เวลา 1 ทุ่มของวันที่ 14 ตุลาคม ในภาคกลางทั้งหมด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งจะได้มวลน้ำมหาศาล และจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น และฝนจะตกอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 ตุลาคม จากนั้นจะเบาลงในวันที่ 17 ตุลาคม

Advertisement

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำจากแม่น้ำป่าสักจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ และคาดว่ามวลน้ำที่ผ่านบางไทรจะลดลงต่ำกว่า 2,000 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯและปริมณฑลไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงนี้

โดยในที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แต่ละจังหวัด การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ การเรียงกระสอบทราย การเก็บผักตบชวา แผนบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือแผนเผชิญเหตุ CPX ร่วมกัน อีกทั้งได้หารือและเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ อาทิ โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดีตั้งแต่แยกดินแดงถึงฐานทัพอากาศ และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ

พล.ต.อ.อัศวินแถลงว่า กทม.ได้ทำการเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของประตูระบายน้ำ คู คลองต่างๆ ทั้งนี้ ในวันนี้ได้ทำการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมตามแผนงาน แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือน้ำฝน เพราะหากฝนตกจะระบายน้ำออกได้ช้า เพราะท่อระบายน้ำของ กทม.มีขนาดเล็กกว่าปกติ ซึ่ง กทม.จะต้องค่อยๆ เปลี่ยนในอนาคต ส่วนประตูระบายน้ำได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

“สำหรับการรับมือนั้น เราก็ต้องรับให้ไหว ใน 4 จังหวัด ที่อาจเกิดน้ำท่วมและจะกระทบกันไปหมด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ แต่ผมยังมีความมั่นใจว่า หากน้ำเข้ามาท่วมในเขตชุมชนเมือง ผมว่าคงไม่สูงเกินกว่าระดับเขื่อน เพราะใน 3 ปีที่แล้ว เราได้ขยายความสูงของเขื่อนเพิ่มเติมแล้ว ทั้งนี้ ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด 97 ตัว สำหรับการดึงน้ำออกและเครื่องสูบน้ำในคูคลองต่างๆ อีก 1,000 กว่าตัว ซึ่งจะมีคนคอยดูแลตลอด และมีเครื่องสูบน้ำแบบเครื่องยนต์ดีเซลไว้สำรองเวลาที่ไฟฟ้าดับ

ถามว่าหนักใจหรือไม่ ก็หนักใจ แต่เชื่อว่าน่าจะประคับประคองไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯได้ ผมไม่อยากให้เรียกว่าน้ำท่วม ให้เรียกว่า น้ำมาก” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

ทางด้าน นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. กล่าวว่า ในส่วนของ กทม.ได้มีการเฝ้าระวังเรื่องน้ำท่วมนั้นมีทั้งหมด 2 ส่วน ส่วนแรกคือ พื้นที่ที่ใช้ในการรองรับน้ำฝนตลอดทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนคร ซึ่งจุดเฝ้าระวังใหญ่ๆ ทั้ง 12 จุด ที่เกิดน้ำท่วมตลอดได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งน้ำอาจจะแห้งภายใน 1-2 ชั่วโมง หลังจากการเกิดฝนตก ทั้งนี้ ยังมีหน่วยลาดตระเวนที่คอยลาดตระเวนอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำ และเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาที่ระดับน้ำสูงที่สุด และได้มีเกินเข้ามาเล็กน้อย กทม.ก็ได้แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งในการรับน้ำในช่วงนี้ยังไม่มีปัญหา

“ส่วนในกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าอาจจะมีน้ำขึ้นในช่วงวันที่ 14-15 ตุลาคมนี้ กทม.ได้แจ้งผู้อำนวยการเขตริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 19 เขต ได้เตรียมตัวรับมือ และดูแลประชาชน ส่วนประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ล่าสุดได้ทำทางเดินและยกพื้นที่ให้สูงขึ้นทุกชุมชน และมีถุงยังชีพให้” นายขจิตกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนบูรณาการน้ำ กทม.ได้ประสานงานแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมบนถนนสายหลักคลี่คลายไปแล้วหลายจุด ยังคงเหลือปัญหาที่ต้องดำเนินการร่วมกัน จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย

จุดที่ 1 ด้านทิศเหนือเขตติดต่อ จ.ปทุมธานี ณ ถนนพหลโยธิน บริเวณอนุสรณ์สถานและแยกลำลูกกา โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. จ.ปทุมธานี และกรมทางหลวง

จุดที่ 2 ด้านทิศเหนือเขตติดต่อ จ.นนทบุรี แผนพัฒนาคลองส่วย บูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. และ จ.นนทบุรี

จุดที่ 3 ด้านทิศตะวันตกเขตติดต่อ จ.สมุทรสาคร ณ ถนนพระรามที่ 2 การเชื่อมต่อท่อถนนสายรองกับถนนสายหลัก เนื่องจากปัจจุบันท่อระบายน้ำถนนสายรองไม่เชื่อมต่อถนนพระรามที่ 2 ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ บูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม.และกรมทางหลวง

และจุดที่ 4 ด้านทิศใต้เขตติดต่อ จ.สมุทรปราการ แผนการระบายน้ำถนนสุขุมวิท บริเวณปากซอยลาซาล ปากซอยแบริ่ง บูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. และ จ.สมุทรปราการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image