หมอธีระ ถอดบทเรียนชิลี-เดนมาร์ก หวั่นไทยเปิดประเทศ เสี่ยงสูงระบาดซ้ำซ้อน ‘โอกาสป่วย-ดับ สูงกว่า’

วันที่ 12 ต.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า บทเรียนจากชิลีและเดนมาร์ก

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ มีข่าวหลายสำนักนำเสนอรายชื่อประเทศที่ประกาศนโยบายที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 เช่น เดนมาร์ก ชิลี สิงคโปร์ และไทย

สิงคโปร์นั้น มีความชัดเจนว่าการระบาดแต่ละวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกว่า 3,700 คน ในขณะที่ชิลีและเดนมาร์ก อยู่ในระดับหลักร้อยถึงหลักพัน

เพื่อให้ไทยได้เห็นเส้นทางเดินของประเทศที่ประกาศนโยบายคล้ายคลึงกัน และได้เดินไปก่อนเรา การศึกษาบทเรียนของเค้าน่าจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมรับมือกับสิ่งที่เราจะเจอในอนาคตอันใกล้

Advertisement

ในที่นี้เพื่อให้สเกลในกราฟเปรียบเทียบกันให้เห็นได้ดี จึงนำเสนอบทเรียนของชิลี และเดนมาร์กมาให้พิจารณากัน

1. สถานการณ์หลังปลดล็อก พบจำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ชิลีปลดล็อกตั้งแต่ช่วงท้ายของสิงหาคมเป็นต้นมา และเปิดการเดินทางระหว่างประเทศตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

ในขณะที่เดนมาร์กนั้นเป็นทีทราบกันดีว่าเปิดเสรีการใช้ชีวิตตั้งแต่ต้นกันยายนเป็นต้นมา

Advertisement

ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มจำนวนการติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังปลดล็อกการใช้ชีวิตราว 4-6 สัปดาห์ โดยจำนวนติดเชื้อต่ำสุดต่อวันที่เป็นฐานคือระดับเพียง 300-400 กว่าคนต่อวัน

เฉลี่ยแล้วจำนวนการติดเชื้อต่อวันของชิลีและเดนมาร์กจะสูงขึ้นเป็น 2 เท่า โดยใช้เวลาราว 3 สัปดาห์

สำหรับประเทศไทย ที่กำลังจะเปิดเมืองท่องเที่ยว และเปิดประเทศ แต่ยังมีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงระดับหมื่นคนต่อวัน (ยังไม่รวม ATK) ดังนั้นหากพิจารณา doubling time แบบเดียวกับชิลีและเดนมาร์ก ก็คงพอคาดการณ์ได้ว่าจำนวนติดเชื้อต่อวันคงสูงจากหมื่น เป็นสองหมื่น เป็นสี่หมื่น ไปเรื่อยๆ ทุก 3 สัปดาห์ หากควบคุมไม่อยู่

2. อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองโรคสูงขึ้นอย่างชัดเจน

ชิลีเคยมีอัตราตรวจพบต่ำสุด 0.8% แต่เพิ่มขึ้นเป็น 1.3% ในขณะที่เดนมาร์กเคยต่ำสุดที่ 0.9% แต่เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.4%

ทั้งสองประเทศมีอัตราการตรวจพบเพิ่มขึ้นราว 60% โดยใช้เวลาราว 3 สัปดาห์เช่นกัน

ในขณะที่เมืองไทย อัตราการตรวจพบที่แน่นอนนั้นไม่ทราบ แต่จากรายงานของ Ourworldindata เมื่อกันยายนที่ผ่านมา จะอยู่ราว 20-25% ซึ่งสูงกว่าชิลีและเดนมาร์กอย่างมาก ดังนั้นหากธรรมชาติหลังเปิดเสรีเหมือนกันกับเค้า ก็อาจถีบตัวสูงไปถึง 32-40% ในเวลา 3 สัปดาห์ หรืออาจเร็วและแรงกว่านั้นก็เป็นได้

3. จำนวนการตรวจคัดกรองโรคของแต่ละประเทศ
หากเทียบจำนวนการตรวจที่ทำไปต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ตรวจมากกว่าไทย 3-12 เท่า ทั้งๆ ที่จำนวนการตรวจพบว่าติดเชื้อของเค้าน้อยกว่าของเรา 3-4 เท่า

ดังนั้นหากเกิดการระบาดหนักหน่วงปะทุขึ้นมา ศักยภาพของระบบตรวจคัดกรองโรคจะเป็นกลไกต่อสู้โรคระบาดที่เป็นหัวใจหลัก หากทำได้น้อย ไม่มากพอ ไม่ทันต่อความต้องการ ก็จะยากที่จะหยุดยั้งการระบาดวงกว้างได้ คุมไม่ได้ ได้แต่ไล่ตามจนหมดแรง

4. ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน

ทั้งชิลี และเดนมาร์ก มีการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ครอบคลุมประชากรกว่า 70% ของประเทศตั้งแต่สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่เค้าจะปลดล็อกการใช้ชีวิตหรือเดินทางท่องเที่ยว

ประเทศไทยมีอัตราการฉีดครบโดสได้ราวครึ่งนึงของประเทศชิลี และเดนมาร์ก

ดังที่ทราบกันดีว่า การฉีดวัคซีนนั้นมุ่งหวังจะให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ได้รับวัคซีน เพื่อลดโอกาสป่วย ลดโอกาสเสียชีวิต ดังนั้นด้วยอัตราความครอบคลุมวัคซีนของไทยเราที่น้อยกว่าชิลีและเดนมาร์ก การเปิดเมือง เปิดท่องเที่ยว และเปิดประเทศของไทยนั้นย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงสูงของการระบาดซ้ำรุนแรง และมีโอกาสป่วย และเสียชีวิตมากกว่าเค้าอย่างแน่นอน

เหล่านี้จึงเป็นเหตุผล จากหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่นำมาแสดงให้ดู
เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองกำลังจะผลักดันให้เกิดขึ้น

และอย่างน้อยที่สุด สิ่งที่นำมาแจ้งให้รับรู้รับทราบกันนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนอย่างพวกเราทุกคนได้รู้เท่าทันสถานการณ์ และเตรียมวางแผนชีวิต รับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้

ช่วงเวลาถัดจากนี้ เป็นไปตามที่ย้ำมาตลอดว่า ความใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัว หรือ Health conscious นั้นสำคัญมาก และจะเป็นตัวกำหนดเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของพวกเราแต่ละคน

ขอให้มีสติในการใช้ชีวิต และป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ด้วยรักและห่วงใย

ป.ล.บทความนี้ปรับจากวันที่ 11 ตุลาคม เพื่อให้ดูภาพเปรียบเทียบง่ายขึ้นกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image