โมเดอร์นา ล็อตแรก 1.9 ล้านโดส พร้อมทยอยส่ง พ.ย.นี้ เผย ลูกค้าโอนสิทธิ-เลื่อนได้ แต่คืนเงินไม่ได้

วัคซีนโมเดอร์นาล็อตแรก 1.9 ล้านโดส พร้อมทยอยส่ง พ.ย.นี้ แน่นอน! ไร้เงื่อนไขขอคืนเงิน

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พร้อมด้วย นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการ อภ. และ ภญ.สุนัยนา กิจเกษตรไพศาล ผู้จัดการทั่วไป แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนทางเลือกสำหรับประชาชน

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า อภ. ร่วมกับสมาคม รพ.เอกชน ทำสัญญาซื้อวัคซีนโมเดอร์นา จากบริษัท ซิลลิค ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการดำเนินการลงนามแล้วกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2564 เราได้ติดตามเร่งรัดกับทางบริษัทฯ เรื่อยมา คุยกันเกือบทุกวัน หากมีความคืบหน้าเราก็จะชี้แจงกับประชาชนทันที แต่ที่ผ่านมา มีความล่าช้าหรือไม่ได้มีการอัพเดทข้อมูล ยืนยันว่าเราไม่ได้นิ่งนอนใจ เราคำนึงถึงความคาดหวังของประชาชนอย่างยิ่ง เพราะเป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนซื้อผ่าน รพ.เอกชนเองไม่ผ่านงบประมาณของรัฐ

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า เราได้รับความเสียหายจากความคาดหวังของประชาชน เดิมทีกำหนดส่งมอบวัคซีนในเดือน ตุลาคมแต่มีข้อติดขัด ซึ่งเราจะต้องออกมาพูดความจริง เบื้องต้นทราบว่า ทางบริษัทซิลิค ได้ยื่นขออนุญาตกับอย.เพื่อขึ้นทะเบียนแหล่งผลิตวัคซีนอื่นเพิ่มเติมด้วย เพื่อการจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นเข้ามา

“อภ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราต้องดูสัญญาที่ทำกับบริษัทซิลลิคเป็นหลัก หากการส่งมอบล่าช้า เกินกำหนด ต้องดูว่าผิดต่อสัญญาหรือไม่ ในทางกฎหมายเราได้เตรียมหาทางออกในกรณีที่มีการละเมิดสัญญา ซึ่งก็จะมีการหารือกับนายกสมาคมรพ.เอกชน แต่เราคาดหวังว่าไม่จะเป็นเช่นนั้น เราจะพยายามเร่งรัด ทำให้ดีที่สุด” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

Advertisement

นพ.เฉลิม กล่าวว่า สมาคมรพ.เอกชนได้สั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ล็อตแรกประมาณ 3.9 ล้านโดส แต่เกิดปัญหาเรื่องความชัดเจนของตารางการจัดส่งเข้ามา เราเคยกำหนดไว้วันที่ 15 ตุลาคม แต่ไม่มีของเข้ามา ทำให้สมาคมฯ ค่อนข้างเหนื่อย เพราะเราดีลตรงกับลูกค้าหนึ่งต่อหนึ่ง หมายความว่าต้องติดต่อลูกค้า 3.9 ล้านคน ส่งผลให้ยากลำบากต่อการจัดการ คำตอบที่ให้กลุ่มลูกค้าจึงต้องมีทั้งเลื่อนการฉีด โอนสิทธิ เพราะรัฐบาลให้ฉีดเข็ม 3 ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ซึ่งเราเห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม คำถามที่มาทางกลุ่ม รพ.ถามว่าเลื่อนได้หรือไม่ หรือโอนสิทธิได้หรือไม่ ซึ่งทำได้อยู่แล้ว ส่วนที่ว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ เราตอบไม่ได้จริงๆ เพราะเราก็ยังไม่ได้วันที่ชัดเจน ตอนนี้ล่วงเลยมาถึงไตรมาส 4 แล้ว อีกไม่กี่วันจะเข้าเดือน พ.ย. แล้ว ซึ่งเราก็เข้าใจความคาดหวังจากผู้บริโภค เพราะเป็นเงินส่วนตัวของเขาเอง ทางรพ.ก็ไม่กล้าตอบความชัดเจนว่า จะมาเมื่อไหร่ ดังนั้น ความชัดเจนต้องอยู่ที่บริษัท มาให้ข้อมูลตรงนี้

“เราหวังกับวัคซีนโมเดอร์นา ทั้งประสิทธิผลต่างๆ ซึ่งหลายคนคาดหวังและไม่ยอมฉีดเข็มที่ 3 เพราะรอโมเดอร์นา แต่ส่วนตัวขอให้ไปฉีดเข็ม 3 ก่อน แล้วโมเดอร์นาให้เลื่อนออกไป เรากับทาง อภ.ตกในฐานะผู้ซื้อเหมือนกัน แต่ทางรพ.เดือดร้อนเพราะมีคนเป็นล้านๆคน” นพ.เฉลิม กล่าว

Advertisement

ด้าน ภญ.ศิริกุล กล่าวว่า เริ่มต้นวัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนทางเลือก ประชาชนใช้เงินตัวเองซื้อ ซึ่งได้รับความสนใจค่อนข้างมาก อภ. มีทีมนักวิชาการที่ร่วมกับบริษัทซิลลิค ดูแล้วว่าเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เราจึงนำเข้ามา โดยเซ็นสัญญากับบริษัท ซิลลิค แต่ตอนนี้คือ ประสบปัญหาความแน่นอนของการส่งมอบวัคซีน  ทาง อภ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการติดตามตลอด ทั้งทางซิลลิค และยังส่งอีเมลสอบถามทางโมเดอร์นา

“ประชาชนก็อยากรู้ว่าต้องฉีดเป็นวัคซีนเข็ม 3 หรือควรจะรอหรือไม่ รพ.เอกชนเองก็อยากทราบเพื่อการบริหารจัดการ แรกๆ ทางโมเดอร์นา ไม่ให้เราประชุมด้วยเพราะไม่ใช่คู่สัญญา แต่เราทนไม่ไหว เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราจึงเจรจา โมเดอร์นาก็ยอมให้เข้าไปคุยด้วยในบางครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเขามีความพยายามแก้ปัญหา ที่เราเชิญบริษัทซิลลิค ที่เป็นคู่ค้ากับโมเดอร์น่าโดยตรงมาก็เพื่อ อยากให้พูดกับเรา กับประชาชนให้ชัดเจน” ภญ.ศิริกุล กล่าว

ภญ.สุนัยนา กิจเกษตรไพศาล ผู้จัดการทั่วไป แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย กล่าวว่า ทางบริษัทซิลลิค ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความกดดัน ทางองค์การฯ รพ.เอกชน ประชาชนทุกคน ต่างเป็นลูกค้าสำคัญของบริษัทฯ ที่เราจัดตั้งนานกว่า 70 ปี เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อนำเข้าวัคซีนให้เร็วที่สุด ซึ่งตนก็ได้รับการสอบถามจากประชาชนเช่นกัน ทั้งนี้ เรามีการติดตามวัคซีนโมเดอร์นาประจำทุกสัปดาห์ และแลกเปลี่ยนข่าวสารทางอีเมลทุกวัน เรื่องของการนำเข้าวัคซีน เป็นความสำคัญอันดับต้น ทั้งบริษัทซิลลิค ประเทศไทย และบริษัทแม่ ซึ่งเราตระหนักถึงความกังวลในการนำเข้าวัคซีน จึงอยากนำเรียนว่า หลังจากผลิตแล้วก็จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพวัคซีน เพื่อให้ได้มาตรฐาน แต่ที่ช้าคือ ติดปัญหาการผลิตที่ยุ่งยาก ซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับกำหนดการแน่นอน ล่าสุดที่หารือกับโมเดอร์นา คือ วัคซีนจะส่งมาให้ได้ภายในเดือน พ.ย.2564 อย่างแน่นอน และจะทยอยส่งสัปดาห์ละ 1-3 แสนโดสทุกสัปดาห์จนกระทั่งครบ 1.9 ล้านโดสในไตรมาส 4 และที่เหลือไตรมาส 1 ในปี 2565

“ที่ไม่สามารถบอกเป็นวันได้ เนื่องจากวัคซีนจะผลิตต่อเนื่อง และส่งตรวจมาตรฐาน ซึ่งเราจะรู้ล่วงหน้าประมาณ 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการส่งมอบล่าช้า แต่ตามสัญญาที่คุยไว้ในเรื่องไตรมาส ทางบริษัทจะทำทุกวิถีทางให้ได้ในไตรมาส 4 โดยเราได้ประสานงานกับ อย. ส่งเอกสารแล้วเมื่อเดือน ก.ย. เพื่อเพิ่มแหล่งผลิตวัคซีนจากเดิมที่มียุโรป ก็จะเพิ่มแหล่งผลิตในสหรัฐอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งส่วนนี้มีผลว่า หากทำได้เราจะนำเข้าวัคซีนได้เร็วมากขึ้น” ภญ.สุนัยนา กล่าวและว่า ขอให้ติดตามข่าวจากทางสมาคม รพ.เอกชน และ อภ. หรือทางซิลลิค

เมื่อถามว่าในเดือน พ.ย.นี้จะส่งวัคซีนได้อย่างแน่นอนใช่หรือไม่ หากไม่ทันจะผิดสัญญาหรือไม่ ภญ.สุนัยนา กล่าวว่า การส่งมอบวัคซีน เรายืนยันโมเดอร์นาแล้วว่า พ.ย. มีความแน่นอนสูง หากตามสัญญาผิดหรือไม่ เราทราบความคาดหวังของประชาชน เราจะทำให้พ.ย.เกิดขึ้นให้ได้

เมื่อถามว่า ประชาชนจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไร ภญ.สุนัยนา กล่าวว่า อย่างที่ติดตามกับทางโมเดอร์นา จะเข้ามาช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 แต่อาจมากลางเดือน หรือปลายเดือน พฤศจิกายนก็ได้ เพราะเรื่อง วัน เวลายังตอบไม่ได้ชัดเจน ส่วนประชาชนจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไหร่นั้น เมื่อวัคซีนมาถึง ก็จะให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ ใช้เวลาประมาณ 3-5 วันจากนั้นก็นำส่งรพ.เอกชน

ผู้สื่อข่าวถามว่าตามเงื่อนไขประชาชนขอคืนเงินได้หรือไม่ นพ.เฉลิม กล่าวว่า ช่วงต้นที่ประชุมกับสมาคมฯ ในใบจองจะเห็นว่าช่วงเวลาที่ลงไว้ในใบจองค่อนข้างยาว คือ ต.ค.64 – มี.ค.65 แต่ต้องเรียนว่า กลุ่มลูกค้าตนมีประมาณ 1 ล้านคน เราเขียนชัดเจนว่า เลื่อนได้ โอนสิทธิได้ แต่การขอคืนไม่มีระบุในสัญญาจอง และข้อดีของโมเดอร์นา สามารถฉีดในเด็ก 12-17 ปีได้ จึงโอนสิทธิให้ลูกได้ ส่วนปี 2565 วงการแพทย์ต้องการฉีดกระตุ้นอยู่แล้ว แต่พูดตรงๆ ว่า ในเงื่อนไขการจองของรพ. ไม่ได้ระบุว่า คืนเงิน อย่างไรก็ตาม ล็อตนี้เลื่อนไปก็ยังอยู่ในรุ่นที่ 1 อยู่ ซึ่งมีเอกสารวิชาการ เช่น แคนาดา ว่ารุ่น 1 ก็สามารถรองรับโควิดได้หลายสายพันธุ์รวมถึงตัวเดลต้า ส่วนรุ่นใหม่ก็ต้องถามทางบริษัทซิลลิค

นพ.ภุชงค์ ผดุงสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แซดพี เทอราพิวติกส์ กล่าวว่า เนื่องจากโควิดเป็นโรคใหม่ การทำวิจัยจึงต้องทำตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง อย่างโมเดอร์นาที่ได้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ก็พบประสิทธิผลประสิทธิภาพ ซึ่งโมเดอร์นาก็มีการวิจัยวัคซีนตัวใหม่ๆ ตลอดเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยทั้งเฟส 2 – 3 อยู่ ส่วนวัคซีน ณ ปัจจุบันก็ยังมีประสิทธิภาพใช้ได้ทั้งไพรมารี เพื่อฉีดครบโดส และตัวกระตุ้นที่ใช้ปริมาณ 50 ไมโครกรัม ส่วนรุ่นใหม่ๆ จะมาในปี 2565

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image