‘หมอโสภณ’แจงข้อเท็จจริง หลังเฟซบุ๊กรองปลัดยุติธรรม ถาม’รพ.สต.’หนีถ่ายโอนท้องถิ่น?

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

หลังจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง สั่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านท่าผา ยกเลิกการบริการนอกเวลาราชการ (เสาร์อาทิตย์) จากปัญหาวิกฤตการเงิน จนผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งให้ยกเลิก เพราะมาจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน และยังมีหลายคนมีการนำไปโยงจนเกิดปมดราม่าในโซเชียล

ล่าสุดประเด็น รพ.สต.ยังไม่จบ เนื่องจากมีการแชร์เฟซบุ๊กของนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “เขาลือกันว่าที่ยกฐานะจาก “สถานีอนามัย” ขึ้นเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ก็เพราะต้องการหนีการถ่ายโอนสถานีอนามัยไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนทัองถิ่น ไม่รู้จริงหรือเปล่า ?
ปัจจุบัน ผมทราบว่ากระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งได้ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๔ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๒๓ ง ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ไปแล้ว น่าจะเอาเงินท้องถิ่นมาอุดหนุน ดีกว่าปิดบริการ เพราะคนจนหาเช้าไม่พอกินเพลที่ลำบากยากแค้นยังมีอีกมาก ถ้าทำไม่ได้ก็โอนให้ท้องถิ่นไปครับ”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 27 กันยายน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การยกระดับสถานีอนามัยขึ้นเป็น รพ.สต.เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ได้ต้องการจะยกฐานะเพื่อหนีการถ่ายโอน เนื่องจากที่ผ่านมามี รพ.สต.ประมาณ 35 แห่งถ่ายโอนไปแล้ว ซึ่งกระทรวงไม่ได้บังคับว่าจะต้องถ่ายโอน หรือไม่ต้องถ่ายโอน ที่สำคัญหากจะถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่น เพื่อให้การดูแลประชาชนสะดวกขึ้น หรือเป้าหมายเพื่อประชาชน ไม่ใช่ว่าต้องการถ่ายโอนเพราะไม่มีงบประมาณ คงไม่ใช่ เพราะหลักการของการกระจายอำนาจ คือ หาก รพ.สต.มีความพร้อม ซึ่งก็จะมีการประเมินอยู่ก็สามารถเข้าร่วมประเมินได้ หากผ่านก็จะถ่ายโอนได้เลย

“หาก รพ.ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ และไปอยู่โดดๆ ก็อาจจะติดขัดในเรื่องการทำงานได้เช่นกัน เพราะการถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่น ต้องดูบริบทความพร้อมของ รพ.สต.และของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย เพราะหากถ่ายโอนไป และพื้นที่มีตำแหน่ง ไม่มีงบรองรับก็จะเหมือนเดิม แต่หากบริบทพื้นที่นั้นพร้อมทั้งหมดก็สามารถถ่ายโอนได้ ซึ่งกระทรวงไม่เคยกีดกัน อย่างไรก็ตาม รพ.สต.ที่มีความพร้อมก็มีการถ่ายโอนไปบ้างแล้ว แต่บางแห่งยังไม่พร้อมก็ยังไม่มีการประเมินเพื่อถ่ายโอน ขณะเดียวกันก็เคยมี 1-2 แห่ง ถ่ายโอนไปแต่มีความต้องการจะกลับมาอยู่กระทรวงอีก ปัญหาคือ ไม่มีตำแหน่งรองรับกลับคืน ดังนั้น จึงอยากให้พิจารณาของแต่ละพื้นที่มากกว่า” นพ.โสภณกล่าว

Advertisement

ธวัชชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image