ผลสำรวจชี้ ปชช.เชื่อมั่นกระบวนการบังคับคดีมากขึ้น จาก 9.02 เป็น 9.10 แต้ม

ผลสำรวจชี้ ปชช.เชื่อมั่นกระบวนการบังคับคดีมากขึ้น จาก 9.02 เป็น 9.10 แต้ม

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นางทัศนีย์ เปาอินทร์ รองอธิบดี รักษาการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยระหว่างแถลงข่าวผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนและการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตามแนวทางระบบราชการ 4.0 ของกรมบังคับคดี ปีงบประมาณ 2564 ร่วมกับ ผศ.อัครนัย ขวัญอยู่ หัวหน้าโครงการวิจัย และ นายวิชาญ กิตติรัตนพันธ์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า  จากการสำรวจพบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว จากค่าเฉลี่ย 9.02 คะแนน เป็น 9.10 คะแนน และมีความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีโดยภาพรวมสูงขึ้นเช่นกัน จากค่าเฉลี่ย 8.68 คะแนน เป็น 9.23 คะแนน ทั้งนี้ ภารกิจหลักของกรมบังคับคดีเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เป็นกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เพื่อสร้างความเป็นธรรม และอำนวยความสะดวกแก่คู่ความทุกฝ่ายในคดี รวมถึงประชาชนผู้รับบริการ

นางทัศนีย์ กล่าวถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี จากกลุ่มประชากรเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 2,746 รายทั่วประเทศ ว่า จากการสำรวจข้อมูล 3 ส่วน คือ การสำรวจแบบตัวต่อตัว (Face-to-face Interview) ทางโทรศัพท์สัมภาษณ์ (Telephone Survey) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) โดยสามารถสรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้

1.ความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการต่อกระบวนการบังคับคดี มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีโดยภาพรวม 9.10 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีแพ่ง 9.08 ต่อกระบวนการบังคับคดีล้มละลาย 8.66 ต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ 8.48 ต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี 8.85 ต่อกระบวนการติดตามและเฉลี่ยทรัพย์สินในคดีล้มละลาย 8.51 ต่อกระบวนการประมูลซื้อทรัพย์/การขายทอดตลาด 9.11 และ ต่อกระบวนการวางทรัพย์ 8.90

Advertisement

2.ความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการต่อกระบวนการบังคับคดี มีความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีโดยภาพรวม 9.23 พึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีแพ่ง 9.13 ต่อกระบวนการบังคับคดีล้มละลาย 8.83 ต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ 9.02 ต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี 9.21 ต่อกระบวนการติดตามและเฉลี่ยทรัพย์สินในคดีล้มละลาย 9.04 ต่อกระบวนการประมูลซื้อทรัพย์/การขายทอดตลาด 9.06 และ ต่อกระบวนการวางทรัพย์ 8.97

“จากการสำรวจการเปรียบเทียบการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีในอดีตที่ผ่านมากับในปัจจุบัน พบว่า เจ้าหน้าที่ทำงานดีขึ้น ร้อยละ 61 ทำงานเหมือนเดิม ร้อยละ 30 ไม่มีความเห็น ร้อยละ 6 ทำงานแย่ลง ร้อยละ 3 ทั้งนี้ กรมบังคับคดี จะนำผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในครั้งนี้ไปพัฒนาปรับปรุงการให้บริการของกรมบังคับคดี และจะทำการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี อย่างต่อเนื่องต่อไปในทุกๆ ปี เพื่อพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ สร้างความเชื่อมั่น และความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับบริการ รวมถึงเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้เป็นไปตามแนวทางระบบราชการ 4.0 เพื่อการเสริมสร้างการรับรู้ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและการสนับสนุนของสาธารณชนต่อภารกิจสำคัญในกระบวนการบังคับคดีต่อไป” นางทัศนีย์ กล่าว

นางทัศนีย์ กล่าวว่า ตามแผนปฏิบัติราชการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2564 กรมบังคับคดีกำหนดยุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรและยกระดับธรรมาภิบาล เพื่อให้มีภาพลักษณ์องค์กรที่น่าเชื่อถือ โปร่งใส เป็นธรรม เสมอภาค และทันสมัย เป็นองค์กรที่มีระบบบังคับคดีที่มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกินความจำเป็น ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวก และได้รับการตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการเป็นสำคัญ และเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปสู่ LED-Thailand 4.0 ยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนตามนโยบายการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เสริมสร้างความเชื่อมั่น และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคง ยั่งยืน จึงทำให้เป็นหน่วยงานภาครัฐต้นแบบการสร้างและพัฒนากำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์ เพื่อนำไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image