เกาะติด ไล่รื้อ ‘ป้อมมหากาฬ’ ระลอก 2 “เตือนใจ” ติงกทม.อย่าใช้สงครามจิตวิทยา

คนกลาง- นางเตือนใจ ดีเทศน์ กสม.

คืบหน้ากรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ กรุงเทพฯ ซึ่งยืดเยื้อมานาน 24 ปี โดยมีการรื้อชุมชนบางส่วนไปแล้วเมื่อวันที่ 3-4 กันยายนที่ผ่านมา โดยรื้อบ้านไปทั้งสิ้น 16 หลัง ยังคงเหลืออีกราว 40 หลังนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ กทม.ได้เดินทางมาถึงบริเวณชุมชนตั้งแต่เช้า โดยเริ่มรวมตัวตั้งแต่บริเวณสวนสาธารณะข้างชุมชนป้อมมหากาฬ ริมคลองโอ่งอ่าง ในเวลาราว 09.00 น.

ป้อมเสริมรั้ว

ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. มีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงของชุมชนว่า ขอให้ กทม.รักษาคำพูดที่ให้ข้อตกลงไว้ร่วมกันในวันที่ 3 กันยายน และยืนยันว่าจะไม่ยอมให้มีการรื้อถอนบ้านอีก หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ละเมิดข้อตกลงไปแล้ว ที่รื้อบ้านเกิน 12 หลัง โดยรื้อไปถึง 16 หลัง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการนำโลงศพที่มีข้อความเขียนด้วยลายมือว่า “อหิงสา อโหสิ บ้านหลังสุดท้ายของคนจน” ซึ่งชุมชนทำขึ้นตั้งแต่การไล่รื้อครั้งแรก เคลื่อนออกมาตั้งไว้ด้านหน้าของลานชุมชนให้เห็นอย่างเด่นชัด

14502730_10154556800642733_949980361315478719_n

เวลา 10.30 น. นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นเพียงการปกป้องพื้นที่ชุมชน ขออย่าให้ กทม.ทำให้ชุมชนเป็นหมาจนตรอก ล่าสุดตนทราบว่ารัฐบาลจะมีการนำเรื่องของชุมชนเข้าหารือกันในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ ขอให้ กทม.รอก่อนได้หรือไม่

Advertisement

เวลา 11.00 น. นายธวัชชัยแถลงข่าวที่ลานชุมชน มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ชาวบ้านรายใดในชุมชนป้อมมหากาฬที่มีความประสงค์จะย้ายออก ตนและชาวบ้านที่คัดค้านการไล่รื้อจะไม่มีการขัดขวางอย่างเด็ดขาด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถให้ กทม.รื้อบ้านได้ แม้จะเป็นบ้านที่สมัครใจย้ายออก เนื่องจากขณะนี้อยู่ในกระบวนการผลักดันให้จัดตั้งพหุภาคีเพื่อหาทางออก

11.50 น. นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชน แถลงข่าวที่ลานกลางชุมชนป้อมมหากาฬ ติง กทม.อย่าใช้สงครามจิตวิทยา แนะแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษชน เผยผลการตรวจสอบกรณีชุมชนป้อมมหากฬ พบว่าในยุคนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่า กทม. เคยร่วมกับ ม.ศิลปากร ศึกษาเรือนไม้ในชุมชน

ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายนนี้ ตนจะนำประเด็นเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬเข้าในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ด้วย

14502744_10155304584522729_8645984152548675185_n

ป้อมเสริมรั้ว02

ทหาร

“ในยุคนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม. ได้จัดการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีผลสรุปว่า พื้นที่นี้ควรทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชีวิตยุครัตนโกสินทร์ โดยมีบ้านไม้โบราณที่มีคุณค่า มีชุมชนที่มีภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา เช่น ตระกูลของประธานชุมชนก็สืบทอดมาหกรุ่น เป็นบ้านทำเครื่องดนตรีไทย องค์ประกอบที่จะทำให้การวิจัยนี้ประสบความสำเร็จ มี 2 เรื่อง 1.ความเข้มแข็งของชุมชนเอง สามารถรวมกลุ่มเคลื่อนไหวต่อเนื่อง พยายามทำให้ชุมชนเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต 2.ความกล้าหาญของผู้บริหาร กทม. ซึ่งจากการประชุมครั้งล่าสุดที่ กสม. เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งมีทั้งนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กรมศิลป์ นักวิชาการด้านโบราณคดี ด้านผังเมือง มีข้อเสนอที่ตรงกันว่า ผู้บริหาร กทม.ควรกำหนดนโยบายด้วยความกล้าหาญ โดยเสนอให้เป็นการออกข้อบัญญัติขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของกทม.เองที่จะทำให้ชุมชนป้อมมหากาฬกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างดีที่สุด ข่าวล่าสุดบอกว่า กรุงเทพฯได้รับการโหวตให้เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุด ซึ่งเมืองที่น่าท่องเที่ยวต้องมีชุมชน” นางเตือนใจกล่าว

นางเตือนใจยังกล่าวอีกว่า ความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของชุมชนกว่า 20 ปี ไม่ได้เป็นข้อขัดแย้งที่จะเอาชนะคะคานกัน ระหว่างผู้บริหารของกทม.กับชาวชุมชน แต่เป็นแนวทางที่ต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทยกำหนดไว้

“อยากให้ กทม. โดยเฉพาะนางผุสดี ตามไท รักษาการผู้ว่าฯกทม. และพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง นำข้อตกลงในการเจรจาเมื่อวันที่ 3 ก.ย. มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แทนที่จะใช้สงครามจิตวิทยา โดยนำกำลังเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบมาทำให้ชาวบ้านเสียขวัญ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่สร้างสรรค์ในยุคที่โลกให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนอย่างยิ่ง ในส่วนที่ กทม.มีแผนรื้อทั้งหมดภายในปลายปีนี้ กสม.กำลังร่างรายงานการนำเสนอสิ่งที่ชาวชุมชนให้ กสม.เป็นคนกลาง เบื้องต้น ควรต้องมีคณะกรรมการพหุภาคีเกิดขึ้นก่อน ส่วนการจะดำเนินการอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามงานวิจัยสมัยนายอภิรักษ์ เป็นผู้ว่าฯกทม. และคณะกรรมการพหุภาคี ซึ่งควรเกิดขึ้นโดยเร็ว โดยมีการทำจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว ขอให้ท่านกรุณาพิจารณาตั้งคณะกรรมการพหุภาคี เพื่อให้ชุมชนเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่สร้างสรรค์ เคารพสิทธิชุมชนให้มากที่สุด” นางเตือนใจกล่าว

ต่อมา เวลา 13.30 น. นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนกล่าวว่า ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) ซึ่งจะมีองค์กรต่างๆเดินขบวนเพื่อรณรงค์เพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย โดยชาวบ้านในชุมชนจะเข้าร่วมเดินขบวนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image