ฝันของเรือจ้างไทย วันครูกับ’อาเซียน’

ปี 2559 เข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว ทุกหน่วยงานต่างปรับตัวพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างคนเพื่อพัฒนาประเทศ และ “ครู” ถือเป็นหัวใจหลักในการบ่มเพาะเยาวชนให้เติบโตเป็นคนคุณภาพ

ดังคำขวัญวันครูปีนี้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้ว่า “อนาคตก้าวไกล ด้วยครูดี มีคุณภาพ”

ที่ผ่านมาแม้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะมีนโยบายให้โรงเรียนต่างๆ เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งประวัติศาสตร์ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม

Advertisement

รวมถึงส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาของประเทศเพื่อนบ้านให้กับนักเรียน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

และพบว่าเด็กมีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนเพียงผิวเผินเท่านั้น ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ประเทศเวียดนามที่วันนี้ระบบการศึกษาพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด

ดังนั้นแม่งานหลักที่ต้องเร่งเครื่องในการพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ และพร้อมรับกับประชาคมอาเซียนด่านแรก คงหนีไม่พ้น “ศธ.” ที่จะต้องจัดหนักในเรื่องพัฒนาครูให้เข้าใจและมีความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง

Advertisement

นางธานี คุ้มชนะ อายุ 75 ปี ครูสอนวิชาสังคมศึกษา ให้นายกฯ ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ บอกว่า เมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันส่งเสริมในเรื่องการศึกษา เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ

โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ ซึ่งเรายังอ่อนด้อยอยู่ รวมไปถึงการพัฒนาอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของนายกรัฐมนตรี ในการสร้างค่านิยมให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงความสำคัญของการเรียนสายอาชีพ อันจะเป็นกำลังสำคัญของตลาดแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศ

อีกทั้งต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย ที่ขณะนี้เรามีบุคลากรด้านนี้น้อย หากมัวแต่ล้าหลังก็จะไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน คนที่เก่งกว่าก็จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งที่ควรเป็นของเรา

ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็อย่างที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน อย่าใจร้อน คนไทยทุกคนควรช่วยกัน เพราะจะให้รัฐบาลมาแก้ปัญหาให้ทุกเรื่องคงไม่ไหว

“อยากขอให้ทุกคนเข้าใจและให้กำลังใจนายกฯ และช่วยผลักดันให้การพัฒนาการศึกษาเป็นไปด้วยความสำเร็จ อยากฝากให้ทุกคนสำนึกถึงความเป็นไทย ทำหน้าที่ของตนให้ดี รู้จักความพอเพียง และมองดูสถานการณ์รอบตัวด้วยใจเป็นธรรม หากเราช่วยกัน บ้านเมืองก็จะไปรอด รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ก็จะพาบ้านเมืองไปได้ตลอดรอดฝั่ง” นางธานีกล่าว

ขณะที่ นางพิศศรี แจ้งไพร อายุ 76 ปี ครูสอนวิชาภาษาไทยของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในช่วงที่เรียนอยู่ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร บอกว่า ภาษาถือเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสารเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนภาษาต่างประเทศที่หลากหลาย นอกจากภาษาอังกฤษซึ่งถือเป็นภาษาที่สองอยู่แล้ว

ที่สำคัญและอยากเน้นมากคือเรื่องภาษาไทย ที่จะต้องไม่ลืม และควรเน้นให้สอนอย่างถูกต้อง เพราะปัจจุบันพบว่าเด็กมีปัญหาเรื่องการอ่านออกเสียงภาษาไทยอย่างมาก

และที่หนักมากคือ เด็กหลายคนเรียนแบบเน้นท่องจำจากภาพ อาทิ เด็กบางคนอ่านคำว่า ชะ-นี แต่ออกเสียงว่าลิง เพราะเด็กออกเสียงตามภาพที่เห็น

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาเราไม่สอนแบบแจกลูกสะกดคำ ดังนั้นควรฟื้นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวให้มากขึ้น

เพราะแม้ว่าภาษาต่างประเทศจะมีความสำคัญเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ภาษาไทยก็ไม่ควรละเลย และจำเป็นต้องเรียนอย่างถูกต้องเช่นกัน

เพื่อว่าถ้าเพื่อนบ้านมาเรียนภาษาไทย เราจะได้สอนเขาอย่างถูกวิธี ไม่ใช่สอนแบบผิดๆ เพราะเข้าใจ และเรียนรู้มาผิดๆ

ส่วน นายสนิท มณีรัตน์ อายุ 54 ปี ครูวิชาศิลปะ ม.4-6 โรงเรียนปากช่อง จ.นครราชสีมา เจ้าของรางวัลคุรุสภาประจำปี 2558 กล่าวว่า ศิลปะถือเป็นการเรียนรู้ที่ไร้พรมแดน แม้ไม่ได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ก็ปรับตัวมาโดยตลอด

เพราะการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้โลกแคบลง ซึ่งตนเตรียมพร้อม โดยส่งเสริมให้สร้างหอศิลปะและวัฒนธรรมขึ้นที่โรงเรียนปากช่อง เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปะ

ไม่ใช่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างถึงภาคส่วนอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศด้วย

การเป็นครูสอนศิลปะต้องเป็นครูแนะแนวด้วย ตนสอนเด็กเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วงแรก ผู้ปกครองไม่นิยมให้ลูกเรียนศิลปะ ทำให้ต้องตอบคำถามมาตลอดว่าเรียนศิลปะจบไปแล้วจะทำงานอะไร

ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าคนที่เรียนศิลปะ สามารถทำงานหลากหลายอาชีพ ไม่ใช่แค่วาดภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศาสตร์ด้านการแสดงและดนตรี

หรือแม้กระทั่งเด็กที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ หากเรียนศิลปะเป็นตัวเสริม จะทำให้มองโลกในแง่งาม และสร้างสรรค์มากขึ้น รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น มีมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนๆ

เพราะได้ใช้สมองทั้งในส่วนการคิดวิเคราะห์ และส่วนสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรียนแต่วิชาการเพียงอย่างเดียว

“ผมสอนลูกศิษย์เสมอว่า ไม่ว่าต่อไปจะไปทำอาชีพอะไร ขอให้นำศิลปะที่เรียนไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตให้เกิดความสมดุล สร้างความสุขให้ทั้งตัวเอง และคนรอบข้าง หากทำได้เช่นนี้ สังคมก็จะมีความสุขตามไปด้วย อยากให้ ศธ.ส่งเสริมให้เด็กเรียนศิลปะมากขึ้น เพื่อสร้างสมดุลทางความคิด มองโลกในแง่ดี รู้จักเห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง ไม่ใช่เก่งอย่างเดียว แต่เห็นแก่ตัว” นายสนิทกล่าว

เป็นทรรศนะและแง่คิดจากครูผู้ทรงคุณวุฒิ มากด้วยประสบการณ์ในการสอน

แต่การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องเริ่มจากตัวเองเป็นสำคัญ

หาก “ครู” ไม่ยอมปรับตัวพัฒนาการเรียนการสอนและเปิดรับความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็ม ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะเดินไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือการแข่งขันในระดับนานาชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image