กทม.ประชุมรับมือฝนกระหน่ำพื้นที่เสี่ยง สั่งผอ.เขตพร้อมรับมือน้ำเหนือลงแม่น้ำเจ้าพระยา 1 ต.ค.

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่สำนักงานเขตประเวศ นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วยผู้บริหารร่วมการประชุมการเตรียมความพร้อมรับสภาพปัญหาน้ำท่วมในจุดเสี่ยงของแต่ละกลุ่มเขต พร้อมวางแผนการเตือนภัย เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่นำ้ ลำคลองของแต่ละเขต เพื่อให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เข้าใจตรงกัน

นางผุสดี กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขต เตรียมความพร้อมให้มากที่สุด ทั้งเรื่องของเครื่องสูบน้ำ กระสอบทราย รวมไปถึงถุงยังชีพ เนื่องจากช่วงนี้จะเป็นช่วงที่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก พร้อมกับมีน้ำที่ไหลมาจากทางเหนือ ซึ่งจะต้องไหลผ่านกรุงเทพมหานคร จนอาจเกิดผลกระทบกับประชาชน ที่อยู่ในบริเวณต่างๆ ทั้งพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ และพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้กรุงเทพฯ ถือว่ามีความพร้อมในการรองรับสถานการณ์น้ำแล้ว แต่อาจมีบางพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบเล็กน้อย เนื่องจากโดยปกติแล้วหากมีฝนตกลงมา 60 มิลลิเมตร จะทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้อยู่พอสมควร แต่จะเร่งให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างดีที่สุด ขณะเดียวกันในเขตที่เป็นจุดเสี่ยง จะต้องมีการประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับประชาชน ให้มีการเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบหากฝนตกลงมาอย่างหนัก อาทิ เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง เขตหนองจอก เขตมีนบุรี และเขตลาดกระบัง

นางผุสดี กล่าวว่า กทม.คงหนีน้ำไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้พี่น้องชาวกทม. สบายใจขึ้น สิ่งสำคัญพวกเราต้องทำงานอย่างเต็มใจ อย่าให้พี่น้องประชาชนต่อสู้อย่างโดดเดียว ต้องให้เขารู้ว่าเราเตรียมพร้อม เมื่อเกิดปัญหาต้องเห็นเจ้าหน้าที่กทม.ลงไปช่วยเหลือทันที จึงอยากฝากทางสำนักงานเขตทุกแห่ง โดยขณะนี้สำนักระบายน้ำจะจัดส่งเครื่องสูบน้ำ 25 เครื่องตามเขตต่างๆ ซึ่งความเป็นจริงเมื่อถึงจุดนั้น อาจเพิ่มขึ้นด้วย และยังมีเครื่องมืออื่นๆอีก

myhome_2

Advertisement

โดยนายอมร กล่าวว่า หากฝนมา 2-3 วันนี้ ความเร็วน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา วิ่งลงมาถึงบางไทร 24 ชั่วโมง หากฝนเข้าวันที่ 30 กันยายน เดาได้เลยว่าวันที่ 1 ตุลาคม น้ำเหนือทั้งหมดจะไหลลงมาที่กทม. ที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา หากมาถึงแล้วไม่สูงเกินขั้นวิกฤตก็สามารถรับได้ โดยความสูงที่รับได้ตั้งแต่ 3.50 เมตร ลงมา 2.50 เมตร หากพื้นที่เขตไหนรู้ว่าทนระดับน้ำเจ้าพระยาไม่ไหว ต้องรีบบอกทางสำนักการระบายน้ำ จะรีบเอากระสอบทรายไปให้ เรื่องนี้สำคัญ เพราะหากระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น เนื่องจากความจำเป็นของการระบายน้ำของกรมชลประทาน ไม่เหมือนฝนตก ที่ยังค่อยปล่อยออกไปได้ ดังนั้น ผู้บริหารเขตต้องออกไปตรวจ และรายงานผลการตรวจด้วย ว่าจุดไหนเป็นจุดอ่อน ให้รีบแก้ไขเลย ไม่ต้องทำเรื่องเสนอมาก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image