ยุบกรมน้ำกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลตั้งกรมใหม่ อ้างทำน้ำเป็นวาระชาติ วสท.ออกแถลงต้าน

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์

ยุบกรมน้ำกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลตั้งกรมใหม่ อ้างทำน้ำเป็นวาระชาติ วสท.ออกแถลงการต้าน ยังไม่มีกฏหมายรองรับ ซ้ำซ้อนงานกรมชล เผยเหตุยุบรวมเจอทุจริตเพียบ บิ๊กเต่า ลั่น หากมีความจำเป็นอาจใช้ม.44 ตั้งกรมใหม่

เมื่อวันที่ 30 กันยายน  พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ว่า จะยุบรวมกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นกรมเดียวกัน โดยรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะนำเรื่องน้ำเป็นวาระของชาติ ซึ่งกรมที่จะตั้งขึ้นมาใหม่นั้นจะดูแลครอบคลุมทุกแหล่งน้ำ เช่น น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ระบบน้ำทางท่อ ระบบน้ำจากซอกหิน น้ำผุด เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยขณะนี้ได้วางกรอบโครงสร้างใหญ่ๆ แล้ว แต่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆยังไม่ลงตัว แต่อย่างไรก็ตามข้าราชการ พนักงานราชการในทุกๆตำแหน่ง จะต้องไม่เดือดร้อนในการโยกย้ายเปลี่ยนเป็นกรมใหม่

เมื่อถามว่าจะนำกรมชลประทานมารวมด้วยหรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า คงไม่นำมารวม เพราะกรมชลประทานต้องดูแลพื้นที่เกษตรกรรมในเขตกรมชลประทาน ส่วนเขตนอกชลประทานจะมีกระทรวงมหาดไทยดูแลอยู่ส่วนหนึ่ง นอกนั้น ทส.จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเอง ในขณะที่การบริหารจัดการน้ำระดับประเทศจะจัดตั้งเป็นสภาพัฒน์น้ำ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการ ที่ต้องดูแลโครงการน้ำขนาดใหญ่ เช่น การผันน้ำระหว่างประเทศ การกระจายน้ำระบบท่อ เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศด้วย โดยขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่าจะมีการใช้มาตรา 44 ในการตั้งกรมใหม่หรือไม่ รัฐมนตรี ทส. กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรา 44 หรือไม่ เพราะอยากให้โครงสร้างหลักลงตัวก่อน หากโครงสร้างกรมใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้วจะส่งให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณา จากนั้นฝ่ายกฎหมายจะพิจารณาว่าควรจัดตั้งเลยหรือไม่ ทั้งนี้ภายในปี 2559 จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

Advertisement

วันเดียวกัน อนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ออกแถลงการณ์ ‘คัดค้านการจัดตั้ง กรมพัฒนาน้ำ’ โดยระบุว่า ตามที่มีกระแสข่าวความพยายามใช้มาตรา 44 เพื่อจัดตั้งกรมพัฒนาน้ำขึ้นใหม่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการรวมกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเดิม และเพิ่มอำนาจหน้าที่เข้าไปอย่างมากนั้น นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการพยายามดำเนินการดังกล่าวด้วยเหตุผลและประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย มีเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2550

2.จะเป็นการขัดต่อร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำประเทศ โดยมีการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดทำแผนนโยบาย และควบคุมกำกับการใช้งบประมาณของประเทศในการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำ

Advertisement

3.เป็นการจัดตั้งหน่วยงานที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิม ได้แก่ กรมชลประทาน ซึ่งปฏิบัติภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำของประเทศมาอย่างยาวนาน

4.ในการกำหนดหน้าที่ของหน่วยงาน ซึ่งดำเนินงานทั้งการวางแผน ปฏิบัติงาน และติดตามประเมินผลภายในหน่วยงานเดียวกัน เป็นการรวมศูนย์อำนาจ เป็นแนวคิดการบริหารเบ็ดเสร็จแบบเดิมที่ขัดต่อหลักการปฏิรูปและหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการของประเทศในอนาคต จากเหตุผลและประเด็นดังกล่าว จึงยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดตั้งหน่วยงานใหม่

ผู้สื่อข่าว รายงานว่าทางกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต่างก็มีปัญหาเรื่องการทุจริต โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้มีหนังสือถึง พล.อ.สุรศักดิ์ พบว่ามีการทุจริตงบประมาณแผ่นดินในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุน น้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศเป็นต้น โดยมีการขุดเจาะบ่อน้ำบ่อน้ำบาดาลไม่มีคุณภาพ มีการยักยอกเรียกเก็บค่าหัวคิวร้อยละ 10 ถึง 30 ของงบประมาณในการขุดเจาะน้ำบาดาลจนทำให้ประเทศเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท

ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำ สตง.ตรวจพบการทุจริต เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบการทุจริตโครงการ ปรับปรุงแหล่งน้ำประจำปี 2559 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 วงเงินกว่า 182 ล้านบาทจนนำไปสู่การยกเลิกโครงการ. และให้มีการตรวจสอบโครงการดังกล่าวทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่ข้าราชการในกรมทรัพยากรน้ำไปมีส่วนเพื่อประโยชน์ให้กับเอกชนที่เข้าประมูลจนนำไปสู่การตรวจสอบและมีการลงโทษทางวินัยอีกเกือบ 10 รายตั้งแต่รองอธิบดี จนถึงผู้อำนวยการสำนักโครงการนี้โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image