ยืนยัน! ไทยพบ ‘เด็กหัวเล็ก’ จาก ‘ซิกา’ 2 ราย ชี้แม่ไม่แสดงอาการ พร้อมตั้งทีมหาทางป้องกัน

จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบหญิงตั้งครรภ์คลอดทารกศีรษะเล็กจำนวน 3 ราย และทารกในครรภ์อีก 1 รายที่ยังไม่คลอดแต่มีความเสี่ยงศีรษะเล็ก ยังไม่ยืนยันว่าติดจากเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ โดยได้รอผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ  ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค (คร.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ด้านระบาดวิทยา กุมารแพทย์ เวชศาสตร์ป้องกันโรค ฯลฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการด้านวิชาการที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยได้พิจารณากรณีทารกศีรษะเล็กเกิดจากเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวได้ส่งตรวจปัสสาวะและน้ำเหลืองของทารกที่คลอดแล้ว 3 ราย พบว่า  รายแรกมีการยืนยันจากการตรวจน้ำเหลืองด้วยการตรวจหาภูมิคุ้มกันขั้นต้นที่จำเพาะต่อการติดเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่เรียกว่าไอจีเอ็ม (IgM) พบว่าผลเป็นบวก ซึ่งแสดงว่ามารดาติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และรายที่ 2 ตรวจปัสสาวะด้วยเทคนิคพีซีอาร์ ซึ่งเป็นกระบวนการสังเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอ พบผลเป็นบวก พบว่ามารดาติดเชื้อและมีผื่นเกิดขึ้น แต่เป็นการสอบถามย้อนหลัง ขณะที่รายที่ 3 มีภาวะศีรษะเล็ก แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ ต้องรอผลทางห้องปฏิบัติการยืนยันอีกครั้ง  เนื่องจากภาวะศีรษะเล็กไม่ได้เกิดจากซิกาเท่านั้น แต่ยังเกิดจากเชื้ออื่นๆ อีก อาทิ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน ไวรัสเริม หรือเกิดจากมารดาสัมผัสสารเคมี สารพิษ สารหนู ปรอท ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รวมไปถึงความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด เป็นพันธุกรรม เป็นต้น สำหรับรายที่ 4 แม่ติดเชื้อซิกาแต่ไม่มีอาการ ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันว่าเด็กมีภาวะศีรษะเล็กในครรภ์ ต้องติดตามต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถยืนยันได้หรือไม่ว่าทารกศีรษะเล็ก 2 รายเกิดจากซิกา ถือเป็น 2 รายแรกของไทย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าวว่า จะกล่าวเช่นนั้นก็ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการตรวจหาเชื้อดังกล่าวในเด็กศีรษะเล็กของประเทศไทย ปีนี้มีความเข้มข้นในการตรวจหาเชื้อมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาไม่เคยตรวจ จึงไม่ทราบว่ามีมาก่อนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เด็กศีรษะเล็กจากซิกาถือเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่มีข้อมูลวิชาการการศึกษาใดๆ ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเคยมีข้อมูลกว้าง ไม่จำเพาะว่าเกิดจากซิกา โดยโอกาสเด็กศีรษะเล็กอาจเกิดได้ 2-12 รายต่อเด็กเกิดมีชีพจำนวน 10,000 ราย ขณะที่ปี 2557 มีทารกศีรษะเล็ก 31 ราย คิดเป็น 4.36 รายต่อเด็กเกิดมีชีพแสนราย และมีเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะศีรษะเล็ก 159 ราย คิดเป็นความชุกที่ 22.34 รายต่อประชากรแสนราย

Advertisement

“สรุปในประเทศไทยมีเด็กศีรษะเล็กจากซิกา 2 ราย ซึ่งเป็นไปตามที่ทางอเมริกาใต้เคยพบเด็กหัวเล็กจากซิกา 1-30 %  โดยไทยหากพบ 1% จะพบประมาณ 3 ราย แต่ขณะนี้เราพบ 2 ราย ทางคณะกรรมการวิชาการฯจึงเสนอขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการดังนี้ 1.เฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์อย่างเข้มข้นต่อไป 2.ต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม โดยการปรับปรุงแนวทางการจัดการหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่พบผู้ป่วยซิกาให้เข้มข้นมากขึ้น และต้องมีระบบคัดกรองเด็กศีรษะเล็กในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย และ 3.ให้ตั้งคณะกรรมการจัดการแนวทางของหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสซิกา หรืออาศัยในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อไวรัสซิกา โดยมี นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เป็นประธาน จัดทำแนวทางดังกล่าว” ประธานกรรมการฯกล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย ช่วยกันกำจัดเสียตั้งแต่ในบ้าน เพราะอยู่ในบ้านท่าน ไม่มีใครเข้าไปทำได้ และหญิงตั้งครรภ์ก็ต้องป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด และหญิงตั้งครรภ์ตลอดตั้งครรภ์ต้องป้องกันไวรัสซิกา หากมีเพศสัมพันธ์กับสามีต้องให้คู่สวมถุงยางอนามัย เพราะเชื้อผ่านน้ำอสุจิได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐ (ซีดีซี) รายงานว่ามี 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบเชื้อซิการวมทั้งไทย และให้หญิงตั้งครรภ์ระวังการเดินทาง ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าวว่า มีความเสี่ยงทุกประเทศทั่วโลก แม้แต่สหรัฐก็พบทารกที่คลอดออกมามีศีรษะเล็กมา 1 ปี ซึ่งเจอเกือบทุกรัฐ รวมทั้งเตือนหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้เดินทางข้ามรัฐ เช่น ฟลอริด้า และไมอามี่ จึงถือว่าทุกประเทศเสี่ยงเท่ากันหมด

Advertisement

นพ.ทวีกล่าวว่า สำหรับแนวทางการจัดการหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อซิกานั้น จริงๆ มีการจัดทำไว้แล้ว แต่กรณีนี้จะเจาะลึกลงไปกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ซึ่งจะเข้าข่ายเหมือนกรณีล่าสุด มี 1 รายพบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ จะมาทราบก็ต่อเมื่อซักถามย้อนหลังจนพบว่ามีผื่นขึ้น เรื่องนี้สำคัญมาก เนื่องจากร้อยละ 80 ไม่แสดงอาการ ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะมีแนวทางวินิจฉัยอย่างไร รวมไปถึงเมื่อตั้งครรภ์แล้วจะทราบได้เมื่อไรว่าทารกมีความเสี่ยง ซึ่งจะพิจารณาถึงกรณีการยุติการตั้งครรภ์ เพราะมีเรื่องข้อกฎหมาย เรื่องของจิตใจอีก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนปกติในผู้ใหญ่ เด็ก ทุกเพศทุกวัยยังต้องระวังเรื่องไขสันหลังอักเสบ และสมองอักเสบ ซึ่งมีอาการหายใจไม่ค่อยได้ แขนขาอ่อนแรง พบว่ามีคนไทยป่วยแล้ว 1 ราย มีสาเหตุจากซิกา แต่รายนี้รักษาหายดีแล้ว ดังนั้น ทุกคนต้องระวังอย่าให้ยุงกัดเป็นดี

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image