ป้อมมหากาฬสุดเข้ม! เคร่งครัดคน-เข้าออก หลังถูกจ่อรื้อกะทันหันวานนี้-คึกเตรียมร่วมขบวน “วันที่อยู่อาศัยโลก” มุ่งหน้ายูเอ็น

ประตูทางเข้าชุมชนป้อมมหากาฬบริเวณตรอกพระยาเพชรปาณี ยังคงมีแผงเหล็กั้น และมีการตรวจตราคนเข้าออกอย่างเคร่งครัด

สืบเนื่องกรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งยืดเยื้อมานาน 24 ปี กระทั่งกทม. เข้ารื้อบ้านจำนวน 16 หลัง ระหว่างวันที่ 3-4 ก.ย.ที่ผ่านมา และแจ้งรื้อถอนอีกครั้งระหว่างวันที่ 28-29 ก.ย. แต่ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ กระทั่งวันที่ 30 ก.ย. ได้ลงพื้นที่เตรียมการรื้อถอน นำไปสู่การออกแถลงการณ์ของชุมชน นักวิชาการ และกสม. ได้ข้อตกลงเบื้องต้นว่า กทม. จะเข้ารื้อถอนครั้งต่อไปในวันที่ 6 ต.ค. นี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ตั้งแต่ช่วงเช้า ประตูทางเข้า-ออกหลักของชุมชน คือฝั่งตรอกพระยาเพชรปาณี ริมถนนมหาไชย ตรงข้ามวัดราชนัดดาราม ยังคงมีแผงเหล็ก และแผ่นไม้ขนาดใหญ่กั้นไว้ โดยมีชาวบ้านเป็นเวรยามตรวจตราคนเข้า-ออกอย่างเคร่งครัด เมื่อได้รับอนุญาตจะได้รับแจกเข็มกลัดริบบิ้นสีชมพูบานเย็น เพื่อติดเป็นสัญลักษณ์ เนื่องจากระหว่างวันที่ 1-2 ก.ย.จะมีเครือข่ายชุมชนต่างๆ และกลุ่มสมาพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) รวมกว่า 700 คนเดินทางมาพักอาศัยในชุมชนป้อมมหากาฬชั่วคราว เพื่อเตรียมตัวร่วมเดินขบวนในงานวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในทุกวันที่ 3 ต.ค. ของทุกปี โดยในปีนี้คาดว่าจะมีการรวมตัวบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า แล้วเดินขบวนไปยังจุดต่างๆ และสิ้นสุดที่อาคารสหประชาชาติ บนถนนราชดำเนินนอก

ป้อม 1 ตุลา
เครือข่ายชุมชนและสอช. ทะยอยเดินทางมายังชุมชนป้อมมหากาฬ ตั้งแต่เวลาราว 11.00 น.

เมื่อเวลา 09.00 น. นายวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เดินทางมาพูดคุยกับนายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ นายธวัชชัย ได้มอบเอกสารต่างๆ ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับพรก.เวนคืนพื้นทีซึ่งเกี่ยวเนื่องกับชุมชนป้อมมหากาฬ และแผ่นพับที่กลุ่ม “มหากาฬโมเดล” ทำขึ้น

นายวสันต์ กล่าวว่า กสม. ได้รับเรื่องราวร้องเรียนจากชุมชนป้อมมหากาฬตั้งแต่พ.ศ. 2546 ซึ่งขณะนั้นตนเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จนเรื่องราวดำเนินมาจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 10 ปี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาพรก.เวนคืนที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เมื่อปี 2535 พบว่า มีกำหนดอายุเพียง 4 ปี ทว่า ขณะนี้เวลาล่วงเลยผ่านมานานนับ 10 ปี ถือว่าหมดอายุแล้ว

Advertisement

“ป้อมมหากาฬได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ กสม. ชุดแรก เมื่อ พ.ศ. 2546  วันนี้เดินทางมาให้กำลังใจชาวบ้าน ซึ่งที่นี่เป็นชุมชนประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน การทำสวนสาธารณะไม่คุ้มค่า ยกตัวอย่างเช่น สวนสักย่านวิภาวดี ซึ่งมีแต่ผมและภรรยาไปวิ่งออกกำลังกายตอนเช้า ใช้กันอยู่แค่ 2 คน ถามว่าคุ้มไหม สักก็ปลูกแล้วทิ้งเลย ไม่มีคนดูแล ทำแบบนี้ผลาญงบประมาณชาติ  นอกจากนี้ พรก.เวนคืนฯ ฉบับที่เกี่ยวกับชุมชนป้อมมหากาฬ มีอายุแค่ 4 ปี  เมื่อปล่อยให้ล่วงเลยมาถึงขนาดนี้ ถือว่าหมดอายุแล้ว ซึ่งชาวบ้านสามารถร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เพื่อขอให้ชะลอการรื้อถอนถ้ารัฐเห็นความสำคัญสามารถยกเลิกพรก. ได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเป็นหน้าที่รัฐโดยตรง รัฐบาลมีอำนาจตรงนี้  ผมขอเสนอรัฐว่าควรให้นักกฎหมายช่วยพิจารณา” นายวสันต์กล่าว

วสันต์ พานิช อดีตกสม. พูดคุยกับธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ
วสันต์ พานิช อดีตกสม. พูดคุยกับธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในป้อมมหากาฬคึกคักตลอดทั้งวัน โดยมีชาวบ้าน สอช.  ทยอยเดินทางมายังชุมชน โดยรวมตัวกันบริเวณลานกลางชุมชน ซึ่งนายพรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ มีการเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ให้รับทราบและเข้าใจร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งเข้าเยี่ยมชมบ้านไม้โบราณ ซึ่งชาวบ้านต้อนรับให้เยี่ยมชมตามปกติ โดยต้องติดริบบิ้นสีชมพูบานเย็นเป็นสัญลักษณ์ด้วย

นักทองเที่ยวชาวต่างชาติ ได้รับริบบิ้นสีชมพู ก่อนเข้าเยี่ยมชมเรือนไม้โบราณในชุมชนป้อมมหาาฬ
นักทองเที่ยวชาวต่างชาติ ได้รับริบบิ้นสีชมพู ก่อนเข้าเยี่ยมชมเรือนไม้โบราณในชุมชนป้อมมหาาฬ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image