รอผลยืนยัน ‘เด็กหัวเล็ก’ จากซิกาอีก 1 รายสัปดาห์หน้า หลังพบ 2รายแรก ย้ำอย่ากลัวท้อง

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ

หลังจากคณะกรรมการวิชาการด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ระบาดวิทยา กุมารแพทย์ ฯลฯ แถลงผลตรวจยืนยันทารกศีรษะเล็ก 2 รายที่มาจากเชื้อไวรัสซิกา โดยพบว่ามารดามีการติดเชื้อซิกาขณะตั้งครรภ์ แต่ไม่แสดงอาการเด่นชัด กระทั่งคลอดทารกมีภาวะดังกล่าว ขณะที่อีก 2 รายผลยังไม่ยืนยัน

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค(คร.) ในฐานประธานกรรมการวิชาการด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา กล่าวว่า  สำหรับอีก 2 รายผลการตรวจเชื้อยังไม่ยืนยัน เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ 1 รายยังไม่คลอด ขณะที่อีก 1 ราย  ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แต่ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ชัดเจน จำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม คาดว่าผลจะออกในอีก 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นไม่อยากให้ไปกระพือข่าวจนสร้างความวิตกเกินเหตุ เนื่องจากการติดเชื้อซิกาในหญิงตั้งครรภ์ไม่ใช่ว่าทารกจะศีรษะเล็กทุกราย เพราะมีหลายสาเหตุ ทั้งโรคหัดเยอรมัน เริม หรือแม้แต่สัมผัสสารเคมี สารพิษ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ฯลฯ สิ่งสำคัญต้องระมัดระวังตัวเอง ไม่ให้ถูกยุงกัด และช่วยกันกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลายเป็นดีที่สุด และตามตัวเลขของอเมริกาใต้ที่พบซิกาในหญิงตั้งครรภ์ และมีความเสี่ยงทารกศีรษะเล็กจะอยู่ที่อัตราความเสี่ยงร้อยละ 1-30 ซึ่งประเทศไทยหากพบ 3 คนก็จะอยู่ที่ร้อยละ 1 แต่หากพบมากสุดร้อยละ 30 ก็จะอยู่ที่ 9 คน แต่ปัจจุบันยังอยู่ในกรอบที่น้อยมาก และควบคุมได้ หากช่วยกันทุกฝ่าย ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวท้อง รู้จักป้องกันตัวก็เพียงพอ

“เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคใหม่ แนวทางการป้องกัน หรือการวินิจฉัยโรคก็ยังใหม่ไปหมด ดังนั้น การจะมาบอกว่าโอกาสติดเชื้อจะเกิดได้ในอายุครรภ์เท่าไรนั้น คงบอกไม่ได้ชัดเจน ทางที่ดีที่สุดตั้งแต่ตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งคลอด อย่าถูกยุงกัดเป็นดีที่สุด ก็ต้องช่วยกันป้องกัน อย่างสามีก็ต้องช่วยดูแล และการมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องระวัง เพราะเชื้อซิกาผ่านทางน้ำอสุจิได้ หากจะมีเพศสัมพันธ์ก็สวมถุงยางอนามัยด้วย สิ่งสำคัญขณะนี้โรคดังกล่าวมีไปทั่วในแต่ละประเทศ ไม่ใช่จำเพาะแค่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกันหมด การเดินทางก็ต้องระมัดระวังตัว ซึ่งปกติคนท้องก็ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษอยู่แล้ว  อย่ากังวลไป ไม่ใช่ว่าจะไปไหนไม่ได้ ” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่า ช่วงนี้มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องทุกวัน ขณะเดียวกันเกิดปัญหาน้ำรอการระบาย หลายครั้งเกิดน้ำขัง จนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก และซิกา โดยเฉพาะซิกา ขณะนี้มีความน่ากังวล โดยพื้นที่ กทม.ยิ่งต้องระวัง เนื่องจากตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยซิการวมแล้ว 36 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 3 ราย มี 1 ราย คลอดทารกออกมาปกติดี อีก 2 รายยังต้องเฝ้าระวังว่าหากคลอดแล้วจะมีความผิดปกติหรือไม่

Advertisement

“พื้นที่ กทม. เฉพาะช่วงหน้าฝน เดือนสิงหาคม-กันยายน พบผู้ป่วยซิกาถึง 33 ราย กระจายใน 15 เขต แต่จากการเฝ้าระวังเฉพาะเดือนกันยายน พบผู้ป่วยกระจายอยู่ใน 13 เขต อาทิ บึงกุ่ม บางคอแหลม บางเขน มีนบุรี ยานนาวา สาทร พญาไท เป็นต้น และจากข้อมูลดังกล่าว ไม่ได้ต้องการให้เกิดความตระหนกตกใจ แต่ต้องการให้ตระหนักว่า ช่วงหน้าฝนมีโอกาสเกิดยุงลายมากกว่าปกติ จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น” นพ.อำนวยกล่าว และว่า จากการศึกษายังพบเชื้อซิกาในลูกน้ำยุงลาย ถึงร้อยละ 1.7 ขณะที่ในยุงตัวแก่พบเชื้อซิการ้อยละ 5 แสดงว่า ความซับซ้อนของการแพร่เชื้อในยุงลายมีมากขึ้น โดยเรื่องนี้จะนำส่งคณะกรรมการด้านวิชาการฯพิจารณาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image