มีผลแล้ว! ผู้ประกันตนรับสิทธิทำฟัน ‘อุด-ถอน-ขูดหินปูน’ เบิกได้ 900 บ.ต่อปี

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการการแพทย์โดยยกเลิกบัญชีประกาศแนบท้ายหลักเกณฑ์สิทธิการรักษาทันตกรรมผู้ประกันตนของ สปส.ภายใต้วงเงินคนละ 900 บาทต่อปีแล้ว หลังจากนี้ ผู้ประกันตนที่ไปใช้บริการทันตกรรมในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วไป ก็สามารถไปใช้บริการทันตกรรมได้ แต่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อนและผู้ประกันตนมายื่นเรื่องเบิกเงินกับ สปส.ภายหลัง แต่ไม่เกินคนละ 900 บาทต่อปี โดยสามารถยื่นเบิกได้ในครั้งเดียวหรือจะยื่นหลายครั้งก็ได้

เลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันโครงการนำร่องทำฟันโดยไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนใน 30 หน่วยบริการ ก็ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกันตนที่ใช้บริการทันตกรรมในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนในโครงการนำร่องไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน ทั้งนี้ ให้สถานพยาบาลรัฐและเอกชนในโครงการนำร่องมาเรียกเก็บเงินจาก สปส.โดยตรง ซึ่งมีเกณฑ์กำหนดอัตราเบิกจ่ายตามจริง แต่ไม่เกินคนละ 900 บาทต่อปี ซึ่งในส่วนของสถานพยาบาลรัฐจะยึดตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่สถานพยาบาลเอกชน ก็จะให้แจ้งอัตราค่าบริการทันตกรรมต่างๆ ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน มายัง สปส. เพื่อจะได้แจ้งผู้ประกันตนให้ทราบ

IMG_2499

นพ.สุรเดชกล่าวด้วยว่า โครงการนำร่องทำฟันฯดำเนินการใน 30 หน่วยบริการ ใน 19 จังหวัด ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ ปทุมธานี อ่างทอง ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ ชัยภูมิ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม ชุมพร พังงา สตูล จันทบุรี บึงกาฬ มุกดาหาร ยโสธร แพร่ อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี โดยมีสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่ทำสัญญาเข้าร่วมโครงการกับ สปส. 78 แห่ง ทั้งนี้ ระยะ 3 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคมนี้ จะประเมินผลการดำเนินการโดยดูถึงจำนวนผู้ใช้บริการ ปัญหาและข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อวางแนวทางแก้ไขก่อนที่จะขยายผลโครงการนำร่องฯให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปีหน้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image