ห่างไกล ‘ยุงลาย’ เริ่มต้นจากในบ้าน

จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งไม่เพียงแค่ประเทศไทยที่พบผู้ป่วย แต่ในประเทศอื่นๆ ก็ยังพบโรคดังกล่าว ที่น่ากังวลคือ หญิงตั้งครรภ์ ที่หากติดเชื้ออาจมีความเสี่ยงทารกมีภาวะศีรษะเล็กได้ ล่าสุดมีการยืนยันพบ 2 รายที่มาจากเชื้อซิกา อีกทั้งยุงลายยังเป็นพาหะของโรคอื่นๆ อย่างไข้เลือดออกที่พบถึงสัปดาห์ละ 2,000 คน และยังก่อโรคชิคุนกุนยาอีกด้วย ยิ่งช่วงนี้หน้าฝน ยิ่งเป็นช่วงการระบาดของยุงลาย

หากทุกบ้านทุกครอบครัวหันมาใส่ใจดูแลตัวเอง ป้องกันยุงลายกัด ควบคู่กับมาตรการของภาครัฐในการพ่นหมอกควันฆ่ายุงตัวแก่ก็จะช่วยลดปัญหาลูกน้ำยุงลายได้ ซึ่งที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคเปิดแอพพลิเคชั่น “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยประชาชนประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคไข้เลือดออกด้วยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายในบ้านตนเองแบบเข้าใจง่าย ซึ่งสามารถโหลดแอพพ์นี้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และไอโอเอส เพื่อใช้งานได้ในบ้าน

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า จริงๆ ในเรื่องการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย หรือความชุกชุมนั้น หากโดยหลักง่ายๆ เมื่อมีการสำรวจบ้าน 100 หลัง หากพบลูกน้ำยุงลายในบ้าน 10 หลัง ก็ถือว่ามีลูกน้ำยุงลายอยู่ประมาณร้อยละ 10 หรือหากตรวจบ้าน 100 หลัง แต่เจอลูกน้ำยุงลาย 50 หลัง ก็ถือว่ามีลูกน้ำยุงลาย หรือความเสี่ยงก่อโรคได้ถึงร้อยละ 50 ซึ่งตามหลักการขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายไม่ควรเกินร้อยละ 10 โดยเจ้าหน้าที่ก็จะมีการตรวจตามแหล่งต่างๆ และให้คำแนะนำในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย พร้อมทั้งเข้าไปฉีดพ่นหมอกควันฆ่ายุงตัวแก่ แต่การจะกำจัดยุงลายพาหะโรค ต้องร่วมกันทำ ทั้งกำจัดยุงตัวแก่ และกำจัดลูกน้ำยุงลาย

“ลูกน้ำยุงลายส่วนใหญ่จะอยู่ในที่พักอาศัย บ้านเรือนต่างๆ ซึ่งอาจมีน้ำขังในแจกันดอกไม้ ถังน้ำ สิ่งสำคัญอยู่ที่เจ้าของบ้านต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปในบ้านช่วยจัดการได้ จึงเป็นที่มาของมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” นพ.นิพนธ์กล่าว

Advertisement
ลูกน้ำยุงลาย
ลูกน้ำยุงลาย

ข้อมูลจากสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย แนะวิธีการป้องกันตนเองจากการโดนยุงกัด และจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านง่ายๆ 1.ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยไม่ให้มีน้ำขังในท่อระบายน้ำ คว่ำภาชนะที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์เก่า ถังพลาสติก เปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่เก็บกักน้ำ โดยเปลี่ยนทุกสัปดาห์ เช่น แจกัน น้ำพุเทียม กระถางต้นไม้ เป็นต้น รวมทั้งตัดวงจรการเจริญเติบโตของยุง เช่น ใช้ทรายอะเบตกำจัดลูกน้ำยุงลาย เลี้ยงปลาที่กินลูกน้ำยุงได้ในอ่างน้ำในบ้าน หรือใส่เกลือ หรือน้ำส้มสายชูในจานรองขาตู้กับข้าว และควรปกปิดภาชนะที่เก็บน้ำภายในบ้านให้มิดชิด เพื่อป้องกันการเข้าไปวางไข่ของยุง

2.ปิดกั้นช่องทางการเข้ามาของยุง โดยปิดคลุมหรือกั้นช่องว่างในบริเวณผนัง ประตูและหน้าต่างด้วยตาข่ายหรือมุ้งลวด และในเด็กเล็กควรกางมุ้งครอบเตียงของเด็ก 3.หลีกเลี่ยงการโดนยุงกัด โดยนอนกางมุ้ง หรือแม้ในเวลากลางวันก็ต้องป้องกันการโดนยุงกัด สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายด้วยเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และถุงเท้า โดยเฉพาะในบริเวณที่มียุง

IMG_2456

Advertisement

สำหรับการทาครีมกันยุงป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ มีความกังวลว่า จะเกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์ด้วยหรือไม่นั้น

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า ปัจจุบันโลชั่นทากันยุงในท้องตลาด ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จะผสมสารดีท DEET หรือ diethyltoluamide เป็นสารเคมีที่นิยมผสมกันมาก แต่มีข้อควรระวัง โดยระบุว่าควรใช้ในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป แสดงว่าอาจมีผลระคายเคืองต่อเด็กเล็ก ขณะเดียวกันเมื่อใช้นานๆ อาจสะสมและมีผลต่อระบบประสาทได้ ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาโลชั่นทากันยุงที่ไม่มีส่วนผสมของดีท โดยมีการพัฒนาและผลิตเป็นสารเลียนแบบธรรมชาติขึ้นจะมีราคาสูงกว่าทั่วไป 25% เดิมซองละ 10 บาท ก็จะเพิ่มเป็น 15 บาท แต่ก็ถือว่าปลอดภัย ดังนั้น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องใช้ครีมทากันยุงนานๆ ก็อาจหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แทนได้

“ส่วนที่บอกว่าใช้ตะไคร้หอมไล่ยุง ก็ไม่ใช่ว่าใช้ได้หมด เนื่องจากตะไคร้หอมต้องมีการสกัดน้ำมันหอมระเหย และต้องเป็นตะไคร้หอมจำเพาะ ไม่ใช่ว่าใช้ได้หมด ดังนั้น หากเป็นตะไคร้หอมก็ต้องเป็นผลิตภัณฑ์กันยุงที่ผ่านการรับรองถูกต้องด้วย” นพ.อภิชัยกล่าวทิ้งท้าย

ป้องกันยุง เริ่มง่ายๆ จากที่บ้าน สกัดได้ 3 โรค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image