‘ปิยะสกล’ ย้ำตรวจหาเชื้อซิกา ‘หญิงตั้งครรภ์’ เฉพาะพื้นที่เสี่ยง ย้ำคนทั่วไปไม่จำเป็น

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่กรมควบคุมโรค (คร.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ไวรัสวิทยา ฯลฯ เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ภายหลังพบเด็กทารกศีรษะเล็ก 2 รายจากเชื้อซิกา พร้อมทั้งหารือมาตรการการเฝ้าระวัง และแนวทางป้องกันหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกาอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น

นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า สำหรับเด็กทารกศีรษะเล็ก 2 รายนั้น ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าเป็นเคสที่พบน้อยมาก และไม่ใช่ว่าหญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะคลอดเด็กศีรษะเล็กทุกคน เพราะสาเหตุไม่ใช่เพียงเชื้อซิกา แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก อาทิ หัดเยอรมัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการป้องกันยุง ไม่ให้ยุงกัด โดยการกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย และกำจัดยุงตัวแก่ จึงควรถือวิกฤตเป็นโอกาสในการร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย พร้อมทั้งภาครัฐก็จะไปช่วยในเรื่องพ่นหมอกควันยุงตัวแก่ โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ซึ่งการกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย ไม่ใช่แค่ในบ้าน แต่ในโรงเรียน วัด สถานที่ต่างๆ ต้องร่วมด้วยกันช่วย ซึ่งขณะนี้น่าตกใจว่ากลับพบลูกน้ำยุงลายมากในวัด ซึ่งก็ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ และช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายอยู่

นพ.ปิยะสกลกล่าวอีกว่า จากการประชุมทำให้ทราบว่าที่ผ่านมามีมาตรการในการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อซิกาอย่างเข้มงวดและละเอียดมาก โดยได้มีการตรวจเชื้อผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยจำนวน 10,000 คนในพื้นที่เสี่ยง 16 จังหวัด ซึ่งเป็นที่ทราบว่าเจอผู้ป่วยกว่า 300 คนตั้งแต่ต้นปี แต่ทุกวันนี้หายดีแล้ว เนื่องจากมีการติดตามอาการ 28 วัน ทำให้ในรอบสัปดาห์พบผู้ป่วย 40 ราย จังหวัดที่พบโรคก็ลดน้อยลง ไม่ได้จำเพาะอีก ซึ่งในคนทั่วไปไม่ต้องกังวล เพราะโรคซิกาไม่ได้รุนแรง หายเองได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ผ่านมาในพื้นที่เสี่ยงได้มีการตรวจหาเชื้อซิกาประมาณ 1,000 คน พบ 39 คน ในจำนวนนี้มีเด็กคลอดแล้ว 9 คนซึ่งปกติดี ไม่มีภาวะหัวเล็ก

“การจะพบว่าเด็กทารกมีภาวะศีรษะเล็กหรือไม่นั้น ขณะนี้จะพบได้ในอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ซึ่งถือว่ามากเกินไปที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น ต้องป้องกัน และต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายในการตรวจหาเชื้อซิกาในหญิงตั้งครรภ์ จะดำเนินการเฉพาะพื้นที่เสี่ยงที่พบเชื้อซิกา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการตรวจมาต่อเนื่อง แต่จากนี้จะเข้มกว่าที่ผ่านมาอีก ซึ่งหญิงตั้งครรภ์คนไหนอยู่พื้นที่เสี่ยงมากๆ และมีความจำเป็นต้องตรวจเชื้อซิกา ก็ต้องตรวจให้ฟรี ส่วนพื้นที่อื่นๆ ยังไม่ต้องตรวจ รวมทั้งหญิงที่ตั้งใจจะท้อง ก็ยังไม่ต้องไปตรวจหาเชื้อซิกา เพราะไม่มีความจำเป็น สิ่งสำคัญคือป้องกันตัวเองดีที่สุด” รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image