ไทยพบโอไมครอน 205 ราย อนุทิน เผยคลัสเตอร์ผัวเมียกาฬสินธุ์ กระจายเข้าอุดรฯอีก 22 ราย

ไทยพบโอไมครอนแล้ว 205 ราย อนุทินเผยคลัสเตอร์ผัวเมียกาฬสินธุ์ ทำกระจายเข้า อุดรธานี อีก 22 ราย เสี่ยงสูงอีกกว่าร้อยคน

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 12/2564 ว่า ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กำชับทางผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้อยู่ในพื้นที่ ออกตรวจความเรียบร้อย ดังนั้น สธ.ก็กำชับให้นายแพทย์สาธารณาสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) แพ็คคู่กันไป หากพบกิจกรรมที่ทำผิดกฎระเบียบจากที่ขออนุญาตไว้ ก็ต้องดำเนินการยกเลิกทันที โดยไม่ต้องให้ความเกรงอกเกรงใจใครทั้งสิ้น เพราะถือว่าเราเปิดให้แล้ว ก็ขอให้ร่วมมือตามระเบียบ เพื่อให้ทุกคนฉลองอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจาก อสม.ในการออกตรวจตราคัดกรองผู้เดินทางเข้าพื้นที่ ตรวจหาเชื้อด้วย ATK หากพบว่าผลเป็นลบ ก็ยังขอให้สังเกตอาการต่อเนื่อง และตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง พร้อมต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างและล้างมือ ซึ่งที่ผ่านมาทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดีก็ขอให้ท่านดำเนินต่อเพื่อความปลอดภัยในชุมชน

เมื่อถามว่าพฤติกรรมใดมีความน่ากังวลในช่วงปีใหม่ นายอนุทิน กล่าวว่า รวมกลุ่มกันเป็นอันตรายที่สุด ชัดเจนด้วยการติดเชื้อโอไมครอน ที่เดินทางมากจากต่างประเทศเรารู้ต้นตอว่ามาจากไหนนี่เป็นสิ่งที่ดี แต่หากใครที่เดินทางไปกลับบ้าน ก็ขอให้ตรวจ ATK ก่อนไปพบผู้อื่น ญาติพี่น้อง อย่างกรณี สามี-ภรรยา จ.กาฬสินธุ์ ที่เดินทางมาจากยุโรปตรวจ RT-PCR ผ่านก็กลับกาฬสินธุ์ ต่อจากนั้นไปหาญาติ จ.อุดรธานี แล้วไม่ได้ตรวจซ้ำ ก็ไปแพร่เชื้อ 22 ราย ทั้งครอบครัว พนักงานร้านอาหาร และลูกค้าในร้าน ร่วมถึงผู้สัมผัสเสี่ยงสูงร่วมร้อยราย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอไมครอน ทำให้ไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวสะสม 205 ราย

“นี่ไม่เกี่ยวกับพิษโอไมครอน มันเป็นการนำเชื้อโดยผู้ติดเชื้อมให้คนอื่น ซึ่งเรามีคำแนะนำชัดเจน DMHTT ไม่ใช่ภาชนะร่วมกัน โดยเฉพาะถังน้ำแข็ง แก้วเหล่า แก้วเครื่องดื่ม รวมถึงฉีดวัคซีนให้ครบโดส ก็ไม่มีปัญหาแน่นอน” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงกรณีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่ลักลอบออกจากโรงแรมกักตัว นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงกรณีนี้เพิ่มเติม แต่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเนื่องจากเขาไม่ปฏิบัตามมาตรการของไทย ไม่รอผลการตรวจ RT-PCR แต่โชคดีที่เชื้อในระยะที่ไม่แพร่ให้ใคร แพทย์รายงานว่า ความเสี่ยงน่าจะน้อย ทั้งนี้ ขอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เข้าไปดูแลโรงแรมที่รับทำระบบกักตัว หรือแซนด์บ็อกซ์ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สบส.จะต้องเข้าไปดูโรงแรมที่กักตัวคนนักท่องเที่ยวรายดังกล่าว หากทำเต็มที่แล้วแต่ยังเขายังมุดลงใต้ดินหลบหนีได้ จะว่าโรงแรมผิดเต็มที่ก็ไม่ได้ ก็ต้องกำกับให้เขาเพิ่มมาตรการสอดส่องดูแลตามที่ได้ขอขึ้น

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไทยพบโอไมครอนสะสม 200 กว่าคน ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ แสดงว่า ระบบตรวจจับสามารถตรวจจับได้ แต่อย่างที่ทราบในระบบไม่กักตัว(Test and go) แม้จะตรวจก่อนเข้ามา 72 ชั่วโมง มาถึงตรวจอีกครั้ง แต่เชิงทฤษฎีมีโอกาสคนที่อยู่ในระหว่างฟักตัวของโรค ตรวจวิธีใดก็ไม่เจอ จึงต้องใช้ระบบเฝ้าระวัง มีระบบติดตาม ซึ่งขณะนี้ผู้ติดเชื้อในประเทศมีไม่มาก แต่อย่างที่ทราบที่หลุดออกจากระบบ Test and go จึงเป็นที่มาให้หยุดชั่วคราว

“กรณีจ.กาฬสินธุ์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง โดยเข้ามาทางระบบ Test and go ตรวจเป็นลบทุกอย่าง ต่อมามีอาการจึงไปตรวจจนพบเชื้อ และระบบสอบสวนโรคก็ไปสอบสวนไทม์ไลน์อย่างละเอียด จนพบว่า มีกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงหลายคน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงรับประทานอาหารร่วมกัน อยู่ในห้องที่ถ่ายเทไม่สะดวก ซึ่งเป็นปัจจัยที่พูดบ่อยแต่อาจเผลอ และยังมีปัจจัยการพูดคุยกันเวลานาน โดยเรามีการติดตามวงต่างๆ วงหนึ่ง และวงสอง และเบื้องต้นพบประมาณกว่า 20 ราย ขณะนี้อยู่ในการควบคุม” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่ากรณีกาฬสินธุ์ ถือเป็นคลัสเตอร์แรกในประเทศไทยหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ถือเป็นคลัสเตอร์แรก แต่ถ้ารายแรก คือ ชายอเมริกันที่ก่อนหน้านี้เข้ามา

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าคนเข้ามายังไม่เกิน 5-6 วันไม่ควรไปสังสรรค์ นพ.โอภาส กล่าวว่า ก็เป็นตัวอย่างที่หลุดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคน อย่างสถิติประมาณการณ์ว่า หาก 2 แสนคน ก็อาจเกิด 1 ในหมื่นคน หรือประมาณ 200 คน แต่หากเราระวังมากก็จะลดลงได้

เมื่อถามถึงอาการผู้ป่วยโอไมครอนเป็นอย่างไร พบอาการเหงื่อไหลตอนกลางคืนอย่างที่พบในต่างประเทศหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับอาการของผู้ป่วยโอไมครอนพบว่า อาการน้อยมาก แต่เรามีการเตรียมพร้อม ระมัดระวัง เพราะอย่างที่ทราบสายพันธุ์นี้แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งท่านปลัดสธ.ได้ให้เตรียมพร้อมการรักษา ทั้งเตียง อย่างเดิมมี 2 แสนกว่าเตียง ปัจจุบันใช้ไป 3 หมื่นกว่าเตียง รวมทั้งยาที่ใช้รักษา อย่างยาแพกโลวิก ที่อเมริกาตรวจสอบแล้ว และประสิทธิภาพค่อนข้างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image