โอมิครอนลามทั่วปท. 16% พบในแล็บกทม. 40% ภูมิภาค 8% เริ่มชัดไม่แรง แต่แพร่เร็วมาก

โอมิครอนลามทั่วปท.แล้ว 16% พบในแล็บกรุงเทพฯ 40% ภูมิภาค 8% เริ่มชัดไม่แรง แต่แพร่เร็วมาก

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้พบเชื้อโอมิครอนแล้วใน 106 ประเทศ ซึ่งอาจมีมากกว่านี้ เพราะบางประเทศอาจจะไม่ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์ ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อเกือบครบทุกรัฐแล้ว ยืนยันว่าโอมิครอนมีสายพันธุ์ย่อยอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ BA.1 2 และ 3 ซึ่งที่ระบาดตอนนี้คือ BA.1 หรือสายพันธุ์เดิมที่มีการกลายพันธุ์ในช่วงแรก และยืนยันว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังสามารถตรวจจับได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์ไหน

“สำหรับข้อมูลการแพร่ระบาดในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง มีการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ด้วยการเอาเชื้อโอมิครอนใส่เข้าไปในทางเดินหายใจ หรือหลอดลม พบว่า มีการแพร่ขยายเร็วมากกว่าเชื้อเดลต้า ประมาณ 70 เท่า แต่พอไปลงไปถึงปอด ที่จะเป็นจุดที่อันตรายแก่ชีวิตนั้น กลับพบว่าไม่ค่อยทำลายเนื้อปอดมากเท่ากับเชื้อเดลต้า นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไมเชื้อโอมิครอนถึงแพร่เร็ว เพราะมีปริมาณเชื้อชุกชุมในทางเดินหายใจส่วนบน แต่กลับไม่ค่อยมีอันตรายอะไรมาก อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเพียงการศึกษาหนึ่งเท่านั้น ส่วนอังกฤษซึ่งมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พบว่า หากติดเชื้อในครัวเรือน เชื้อเดลต้ามีอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ ร้อยละ 10.3 ขณะที่โอมิครอนขึ้นเป็น ร้อยละ 15.8 แต่ถ้าเป็นการแพร่ระบาดในชุมชนเชื้อเดลต้า สามารถแพร่กระจายได้ ร้อยละ 3 ส่วนโอมิครอนจะติดเชื้อได้ ร้อยละ 8.7 สำหรับตัวเลขในสหรัฐ เดิมเป็นเชื้อเดลต้าทั้งหมด แต่ล่าสุดพบว่าเป็นเชื้อโอมิครอนมากกว่า ร้อยละ 70 สัดส่วนเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ความรุนแรง กรณีที่อังกฤษ หากติดเชื้อเดลต้า เข้าโรงพยาบาล (รพ.) ราวร้อยละ 50 และผู้ที่นอนมากกว่า 1 วันขึ้นไปมีประมาณร้อยละ 61 แต่หากเป็นโอมิครอนจะเข้า รพ.ร้อยละ 20-25 และนอน รพ.มากกว่า 1 วัน ประมาณ ร้อยละ 40-45 ขณะที่ แอฟริกาใต้ก็พบสถานการณ์ใกล้เคียงกัน ว่าโอมิครอนทำให้เกิดการนอน รพ. ร้อยละ 2.5 ส่วนเชื้อตัวอื่นขึ้นไปถึง ร้อยละ 12.8 นับว่าเป็นนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนเรื่องอาการหนักเชื้อโอมิครอนทำให้อาการหนัก ร้อยละ 21 ส่วนเชื้ออื่นอาการหนัก ร้อยละ 40 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตัวเลขการศึกษายังไม่มากพอที่จะทำให้การพิสูจน์ทางการศึกษายังไม่มีนัยสำคัญมากพอ

“หน่วยงานควบคุมโรคของสหรัฐ (CDC) พูดชัดเจนว่า คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งเท่ากับเป็นการฉีดวัคซีนโดยธรรมชาติ หรือมีการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ หรือได้รับวัคซีนรุ่นที่ 1 จะป้องกันเชื้อโอมิครอนได้ไม่มาก แต่อาการรุนแรงลดลง เทียบกับคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อน เพราะฉะนั้น หมายความว่าวัคซีนยังสามารถช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคได้ และมีหลายการศึกษาบอกว่าหากมีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสจะทำให้ยกระดับภูมิคุ้มกันสูงมากพอ จะช่วยลดการติดเชื้อ ลดอาการป่วยหนักรุนแรง ซึ่งเป็นนโยบายของประเทศไทยในการเร่งรัดให้คนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้วไม่ว่าจะเป็นสูตรไหนก็ตาม หากได้รับเข็มที่ 2 นาน 3 เดือนแล้ว ควรมาฉีดบูสเตอร์เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว

Advertisement

นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ว่า ล่าสุด ยังไม่มีเคสโอมิครอนตั้งต้น (Index case) ในประเทศ ส่วนการตรวจคนเดินทางมาจากต่างประเทศ และการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในประเทศรอบ นี้ไม่เจอเชื้ออัลฟ่า และเบต้า แต่พบสายพันธุ์เดลต้า 732 ราย โอมิครอน สะสม 205 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 180 ราย คนไทยที่ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ 25 ราย โดยยังเป็นการติดเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับผู้เดินทางมาจากผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ในจำนวนนี้มีคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุด คือ สามีภรรยา ที่ จ.กาฬสินธุ์ ขณะนี้ตรวจพบเชื้อรวมสามีภรรยา เป็น 22 ราย ในจำนวนนี้มี 5 ราย ที่ตัวอย่างไม่สมบูรณ์อยู่ระหว่างการเก็บสิ่งส่งตรวจใหม่ ส่วนคลัสเตอร์อื่นอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคคือ คลัสเตอร์ 3 ราย จากผู้แสวงบุญ มีแม่บ้านในโรงแรมแห่งหนึ่งจำนวน 1 รายและอีก 1 ราย คือ ภรรยาของนักบินที่ได้มีการรายงานไปก่อนหน้านี้

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ถ้าดูภาพรวมภายในประเทศเกือบพันตัวอย่าง จะพบว่าเป็นการติดเชื้อโอมิครอน ประมาณร้อยละ 16 พบจากการตรวจแล็บในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 40 ภูมิภาค ร้อยละ 8 ทั้งนี้สาเหตุที่ กรุงเทพฯ มาก เพราะมีการส่งตัวอย่างมาตรวจที่กรุงเทพฯ มาก

“เมื่อแยกคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศและกลุ่มอื่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งจากเดิมที่เรารายงานเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า พบโอมิครอน 1 ใน 4 ของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ขณะนี้พบได้ ร้อยละ 53 ในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเริ่มพบคนที่อยู่ภายในประเทศจำนวนหนึ่งประมาณร้อยละ 3.8 จะเห็นว่าภาพรวมในทุกกลุ่มนี้กราฟชันขึ้น นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาเดียวกันมีการติดเชื้อค่อนข้างเร็ว ซึ่งเป็นหลักการของโรคติดต่ออยู่แล้วว่าจะมีการแพร่กระจายได้เร็วขึ้นในระยะเวลาถัดไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการแพร่เชื้อจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีคลัสเตอร์ที่ติดกันเหมือนกรณี จ.กาฬสินธุ์ เพิ่มเติมได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเชื้อมีการแพร่ระบาดเร็ว เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ อยากให้ช่วยกันเพื่อลดความเสี่ยง เราต้องช่วยกันเพื่อยันการติดเชื้อระดับน้อยออกไปให้ได้นานที่สุด แต่สุดท้ายมันก็จะเกิดการแพร่ในประเทศได้ แต่และจากหลักฐานเชิงประจักษ์เชื้อโอมิครอนไม่ได้รุนแรงเท่าไร จึงไม่น่าจะต้องวิตกกังวลมากนัก แต่ขอให้ช่วยมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image