สพฉ.-ศิริราช เอ็มโอยูระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ เข้าถึงใน 8 นาที

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง นางพิศมัย พันธ์ครุฑ รองผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฉ.ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วงก่อนถึงโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

นพ.ไพโรจน์ แถลงว่า จากการเก็บสถิติของ สพฉ.ในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินพบว่า มีผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลมากกว่า 6 หมื่นคน โดยมีสาเหตุหลักจากภาวะของการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) และการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ที่เป็นกังวลมากที่สุดคือ โรคหลอดเลือดสมองที่คร่าชีวิตหรือส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์ของคนไทยไปเป็นจำนวนมาก การลงนามบันทึกความร่วมมือของ สพฉ.และโรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ครั้งนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบต้นแบบ stroke fast track ในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคหลอดเลือดสมองช่วงก่อนถึงโรงพยาบาลให้ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด

“ขณะนี้ ยังมีปัญหาเรื่องจุดจอดรถพยาบาลระดับสูงที่ยังจอดในจุดที่มารับผู้ป่วยได้ล่าช้ากว่า 8 นาที สพฉ.และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงจะร่วมผลักดันให้มีการกระจายจุดจอดรถพยาบาลระดับสูงให้อยู่ใกล้แหล่งชุมชน หรือที่อยู่อาศัยของประชาชนครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อที่จะเข้าไปรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาให้ได้ภายใน 8 นาที ตั้งแต่รถพยาบาลไปถึงผู้ป่วยก็สามารถเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยผ่านระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร หรือเทเลเมดิซีน โดยเมื่อเจ้าหน้าที่รับผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะโรคหลอดเลือดสมองระบบเทเลเมดิซีนในรถพยาบาลจะสามารถสื่อสารให้หัวหน้าแพทย์ได้ทราบว่าผู้ป่วยฉุกเฉินมีอาการเจ็บป่วยอย่างไร และหากต้องทำการซีทีสแกน สามารถออกคำสั่งให้รถพยาบาลไปยังศูนย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อทำการซีทีสแกนหรือส่งไปฉีดยาละลายลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมองที่อุดตันได้ทันที” นพ.ไพโรจน์ กล่าวและว่า มีแผนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วงก่อนถึงโรงพยาบาล ซึ่งจะเริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จ.มหาสารคาม จ.สงขลา และจังหวัดในพื้นที่ฝั่งตะวันตก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image