ทส.เร่งสกัดน้ำเค็มทะลักแหล่งน้ำจืด 6 จว.อ่าวไทยคลื่นซัด รอผลศึกษากัดเซาะก่อนลุยแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เปิดเผยข้อมูลจากเหตุการณ์คลื่นซัดฝั่งที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกบริเวณประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช และนราธิวาส ทำให้มีน้ำทะเลหนุนสูงบนพื้นที่ชายหาดหลายแห่ง อาจทำให้มีน้ำเค็มไหลลงสู่บ่อน้ำตื้นสร้างความเสียหายกับแหล่งน้ำในบริเวณชายหาด อันจะส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคในระยะต่อไป ทั้งนี้ในแต่ละจังหวัดได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ลงพื้นที่นำกระสอบทรายไปเสริมบริเวณขอบบ่อน้ำตื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำเค็มท่วม พร้อมพิจารณาพื้นที่ที่อาจจะเกิดการไหลของน้ำเค็มลงแหล่งน้ำผิวดินประเภทสระ-บึงต่างๆ หากพบว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงจะเร่งทำแนวป้องกันไม่ให้มีทิศทางการไหลย้อนของน้ำเค็มลงแหล่งน้ำเหล่านั้นได้

ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำได้ประสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งฟื้นฟู เป่าล้างบ่อบาดาลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มปนเปื้อนในพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้โดยเร่งด่วน รวมทั้งการควบคุมการสูบน้ำ การสร้างแนวป้องกันดิน การอุดกลบบ่อที่เลิกใช้แล้ว เป็นต้น และทำการป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนอีก

รายงานข่าวจาก ทส.ระบุว่า สำหรับกรณีปัญหาโฉนดที่ดินที่ถูกกัดเซาะและตกทะเลไปนั้น ยึดหลักกฎหมายที่ดินมีศักดิ์เหนือกว่ากฎหมายของกรมเจ้าท่า โดยหลักกฎหมายเจ้าของโฉนดยังมีสิทธิในที่ดินอยู่หากมีการติดตามทำแนวเขตไว้ตลอด แต่หากไม่มีการติดตามแล้วในอนาคตรัฐเข้าดำเนินการในการฟื้นฟูหรือการชดเชยต่างๆ จนแผ่นดินงอกกลับเข้ามาแล้วเจ้าของที่ดินจะกลับไปทวงสิทธิไม่ได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ ทส.กำลังศึกษาการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลในภาพรวมอยู่เพื่อเสนอผลการศึกษาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ทส.ได้รับงบประมาณในการดำเนินการในเรื่องกัดเซาะปีละไม่กี่ 10 ล้านบาท ดำเนินการได้เฉพาะในส่วนโครงสร้างขนาดเล็ก เช่น การปักแนวไม้ไผ่กันคลื่น ซึ่งได้ผลดีในพื้นที่ที่เป็นดินโคลนทำให้เกิดแผ่นดินงอกและเข้าไปปลูกป่าฟื้นฟูได้หลายพื้นที่แล้ว แต่ในพื้นที่เกิดปัญหาในเวลานี้คือภาคใต้ฝั่งตะวันออกหรืออ่าวไทยตอนล่างโดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช แนวชายฝั่งมีสภาพเป็นดินทรายการใช้แนวไม้ไผ่กั้นคลื่นอาจไม่ได้ผล อาจจะต้องเป็นลักษณะแนวโครงสร้างขนาดใหญ่เพื่อกันคลื่น ซึ่งเป็นภารกิจของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม โดยการศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชใกล้แล้วเสร็จ และคงจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image