รู้ยัง! กฎหมาย อย. อนุญาตผสม ‘ผงชูรส’ ใน ‘น้ำปลา’ ย้ำต้องติดฉลากเตือนคนแพ้ ไม่ทำถือว่าผิด!!

กรณีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ สุ่มตรวจคุณภาพของน้ำปลาที่จำหน่ายและผลิตในประเทศ ในปี พ.ศ.2555 – 2558  จำนวน 1,121 ตัวอย่าง 422 ยี่ห้อ พบไม่ได้มาตรฐาน 410 ตัวอย่าง  หรือ ร้อยละ 36.57 ส่งผลให้หลายคนเกิดความวิตกกังวล และเรียกร้องให้เปิดเผยยี่ห้อ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคนั้น

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม น.ส.จารุวรรณ  ลิ้มสัจจะสกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องบอกว่า การที่กรมฯตรวจสอบคุณภาพน้ำปลาก็เพื่อให้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆมีคุณภาพตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ ไม่ได้ต้องการสร้างความแตกตื่น หรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ แต่เป็นการรายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บริโภคทราบ โดยการตรวจสอบน้ำปลาก็เป็นการสุ่มตรวจจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ส่งมาให้ดำเนินการ โดยกรณี 410 ตัวอย่างที่พบว่าไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 36.57 นั้น จะแยกเป็นน้ำปลาแท้ไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 27  และน้ำปลาผสมอีกร้อยละ 46

น.ส.จารุวรรณ กล่าวว่า  โดยปัญหาส่วนใหญ่จะมาจากตัวกรดกลูตามิคต่อไนโตรเจน ซึ่งพบว่า น้ำปลาแท้ตกมาตรฐานตรงนี้ถึงร้อยละ 52  หมายความว่า น้ำปลาแท้ใส่ผงชูรสมากไปหน่อย ส่วนน้ำปลาผสมนั้น ตกมาตรฐานเรื่องปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด หมายความว่าอาจไปเอาหัวน้ำปลามาผสม ทำให้เจือจาง จึงมีโปรตีนน้อยเกินไป ทั้งนี้ เมื่อถามว่าแล้วการตกมาตรฐานเหล่านี้อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่นั้น ก็ไม่อันตราย แต่เป็นเรื่องมาตรฐานสินค้าที่ผู้บริโภคควรได้รับมากกว่า

น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. กล่าวว่า จากการตรวจพบผงชูรสในน้ำปลานั้น สามารถพบได้ เนื่องจากผงชูรสเป็นวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร ทางอย.อนุญาตให้เติมได้ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งไม่ได้กำหนด เนื่องจากหากใส่มากย่อมทำให้เสียรสชาติ ประเด็นคือ  หากผลิตภัณฑ์น้ำปลารายใดผสมผงชูรส จะต้องมีฉลากแจ้งว่า มีการผสมของวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร(ผงชูรส) เพื่อให้ผู้บริโภคทราบ โดยเฉพาะคนแพ้ผงชูรสก็สามารถหลีกเลี่ยง  ซึ่งภาพรวมไม่ได้ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่หากไม่ติดฉลากก็จะเข้าข่ายความผิดฉลากอาหารอีก

Advertisement

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในฐานะโฆษก อย. กล่าวถึงกรณีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบน้ำปลาปนเปื้อนและมีการผสมผงชูรส ว่า ตามหลักการเมื่อ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบพบอาหารมีสิ่งเจือปนหรือมีวัตถุปนเปื้อน หรืออาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะส่งข้อมูลมาทาง อย. เมื่อได้รับตามขั้นตอน ต้องไปสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนว่า การตรวจสอบดังกล่าวเก็บตัวอย่างมาจากท้องตลาด หรือเก็บมาจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งต้องพิจารณาตามหลักฐานก่อน หากเชื่อมโยงกับผู้ผลิตก็สามารถเข้าไปตรวจสอบตามขั้นตอนว่า ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าเพราะเหตุใดเมื่อมีการตรวจสอบพบอาหารหรือสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่เปิดเผยยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ระวัง ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า   เมื่อพบว่าสินค้าหรืออาหารยี่ห้อนั้นๆ หากมีวัตถุเจือปน หรือไม่ได้มาตรฐาน จะต้องมีการตรวจสอบและนำหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องตามกฎหมาย ให้ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้รับทราบ และดำเนินการแจ้งปรับ หรือจำคุก แล้วแต่กรณี แต่ทั้งหมดต้องผ่านขึ้นตอนตามกฎหมายก่อน  เพราะหากสุดท้าย ผู้ประกอบการหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์มีหลักฐานยืนยันว่าไม่ผิด หรือทางรัฐตรวจสอบว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตโดยตรง การไปเผยแพร่ชื่อหรือยี่ห้อนั้นๆ ก็อาจถูกดำเนินคดีกลับกรณีสร้างความเสียหาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image