‘อนุทิน’ ชี้ปลูกกัญชาในบ้าน ต้องรอ! บอร์ด ป.ป.ส.อนุมัติ ยัน กม.ไม่สะดุด

‘อนุทิน’ ชี้ปลูกกัญชาในบ้าน ต้องรอ! บอร์ด ป.ป.ส.อนุมัติ ยัน กม.ไม่สะดุด

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการผลักดันกัญชาเสรีทางการแพทย์ ว่าการประชุมคณะกรรมการยาเสพติดวันนี้ ในส่วนของพืชกัญชาก็เป็นไปตามขั้นตอน เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา มีการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ที่มี นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธาน จะมีการเสนอยก (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. … ซึ่งจะมีการเสนอต่อในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาในวันที่ 19 มกราคมนี้

“อนุกรรมการเสนอยกร่างมาแล้วว่า (ร่าง) ประกาศยาเสพติด หรือ ยส.5 จะไม่มีคำว่า กัญชา ก็คือกัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติด แต่ต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เมื่อผ่านแล้วถึงจะนำเสนอคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ หรือ ป.ป.ส. ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธานดูแล” นายอนุทินกล่าว

ดังนั้น เรื่องของกัญชา สธ.ก็จะครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ที่เหลือเป็นเรื่องของคณะกรรมการ ป.ป.ส. หากเห็นชอบยกร่างนี้ รัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนามก็จะสอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ซึ่งจะไม่เป็นปัญหาว่า ปลูกได้หรือไม่ได้ โดยเราพยายามทำให้ครบถ้วนตามกฎหมายทุกอย่าง

Advertisement

นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้สำหรับประชาชนอย่าเพิ่งปลูกนอกระเบียบ ยังคงยึดว่าปลูกภายใต้ความร่วมมือของวิสาหกิจชุมชนเท่านั้น ภายใต้หน่วยงานของรัฐ เช่น โรงพยาบาล (รพ.) เพื่อรับซื้อผลผลิตที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษอยู่ คือช่อดอกและเมล็ดกัญชา ส่วนการจะปลูกที่บ้านนั้นต้องรอการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส.ให้อนุมัติก่อน

“ดูแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องแก้ไขปรับปรุงจากสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงแต่เราทำให้เกิดความสะดวกกับประชาชนมากขึ้น จากที่ต้องขออนุญาตปลูกทุกต้น ก็ขอให้เป็นการจดแจ้งให้ใช้กัญชาในครัวเรือน ที่มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ ป.ป.ส. เข้าไปตรวจสอบได้อยู่ว่าหากจดแจ้งปลูก 6 ต้น แต่ไปปลูก 20 ต้น แบบนี้ก็ผิด ดังนั้น เป็นแค่การอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น ไม่ได้ลดความควบคุม หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเอาชื่อกัญชามาใช้ผิดประเภท หรือเป็นของอันตราย” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวว่า แต่หากปลูกแล้วนำไปทำเป็นสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือสกัด ต้องมาขออนุญาตจาก อย.เท่านั้น ซึ่งทุกอย่างมีกฎหมายการผลิตรองรับ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องใช้เพื่อรักษาตนเองให้สามารถนอนได้มากขึ้น อยากอาหารมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image