“บิ๊กต๊อก”มอบทุน65ผู้ผ่านการบำบัด ทำทุนเริ่มต้นอาชีพใหม่

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบทุนประกอบอาชีพ เริ่มต้นชีวิตใหม่แก่ผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติด 65 คน พร้อมชมสาธิตการประกอบอาชีพ เช่น การนวด ดัด จัดสรีระ และการขายกาแฟโบราณ เพื่อพัฒนาผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูให้มีทักษะอาชีพ ตามนโยบายการลดปริมาณของผู้เสพซ้ำ และลดปัญหาอาชญากรรม มีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย พล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายณรงค์ รัตนานกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ

ต๊อก1

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญการปราบปรามป้องกันและบำบัดยาเสพติด ตลอดจนการติดตามให้ความช่วยเหลือผู้บำบัดฟื้นฟู ยึดหลักแนวคิด “ผู้เสพ ผู้คิดยาเสพติดคือผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการรักษาและดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม” การติดตามดูแลช่วยเหลือจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยประคับประคอง หยุดการใช้ยาเสพติด และลดปริมาณของผู้เสพซ้ำ รวมถึงลดปัญหาอาชญากรรมเพราะไม่มีงานสุจริตทำ อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่ากระทรวงยุติธรรม มีทั้งกลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มคุมประพฤติ กลุ่มบำบัด และกลุ่มฟื้นฟูเกี่ยวกับยาเสพติด

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ซึ่งโครงการเหล่านี้เราได้มีการฝึกอาชีพ และฝึกทางสังคมทุกอย่าง แต่สิ่งที่พบเป็นประจำคือหลายคนที่ฝึกอาชีพไปแล้ว ไม่มีทุนในการทำงาน ทำให้ไม่มีอาชีพ จึงพยายามหาทุนให้ แต่ละปีมีคนเหล่านี้หลายแสนคน แต่เราต้องคัดเลือก โดยศูนย์ ป.ป.ส.จังหวัด จะเป็นผู้คัดเลือก ปกติเราจะมีที่กรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ ทั้งนี้ ในช่วงที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สอบถามว่าทำไมเราไม่หางบประมาณให้เขาบ้าง ทาง ป.ป.ส.จึงพยายามใช้เงินอุดหนุนกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมาช่วยเหลือในลักษณะให้เปล่า แต่ต้องผ่านการคัดเลือก

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความมั่นใจอย่างไรว่าจะสามารถช่วยเหลือได้จริง พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เรามีระบบการติดตามอยู่แล้ว ทางนายอำเภอ กำนัน หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เราใช้ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้สอดส่องดูแล เพราะเป็นผู้คัดเลือกขึ้นมา เราพยายามจะให้สำเร็จทุกคน เพราะจะได้มีอาชีพ มีเงินทองในการเลี้ยงดูครอบครัวของแต่ละคน ทั้งนี้ ได้กำชับไปแล้วเพราะเกรงว่าการให้เปล่า จะเป็นการใช้เงินไปทำอาชีพที่ไม่จริงจัง มีความห่วงใยตรงนี้

ด้าน นายณรงค์กล่าวว่า สำหรับอาชีพที่มีผู้แจ้งความประสงค์ขอรับทุน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ช่างฝีมือ ค้าขาย การเกษตร และรับจ้าง ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาในการขอทุนสงเคราะห์มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ผ่านการบำบัดในปี 2558 การรับรองจากองค์กรภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ไม่มีอาชีพหรือสูญเสียอาชีพไป เพราะการเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู มีทักษะในการประกอบอาชีพแต่ยังขาดเงินทุน มาแสดงความประสงค์ขอรับทุนที่ศูนย์เพื่อการประสานติดตามดูแลผ่านการบำบัดอำเภอและจังหวัด ก่อนรวบรวมคำร้องขอความช่วยเหลือทั้งหมดมาเสนอต่อ ป.ป.ส.ภาค 1-9 และ กทม.เพื่อนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาเงินอุดหนุนให้การอนุมัติต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image