แฉเหตุยุงชุม ดื้อยา บินสูง ขึ้นตึก ใช้ยาโบราณฉีดไม่ตาย แถมแตกกระจายทุกซอกมุม

แฉเหตุยุงชุม ดื้อยา บินสูง ขึ้นตึก ใช้ยาโบราณฉีดไม่ตาย แถมแตกกระจายทุกซอกมุม

วันที่ 25 มกราคม นายสัตวแพทย์ (น.สพ.) อลงกรณ์ มหรรณพ อดีตผู้อำนวยการสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ว่า เวลานี้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ตามบ้านเรือน ทั้งในเขตพื้นที่ในเมืองและนอกเมืองนั้น มียุงเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งพวกยุงลาย ยุงดำตัวใหญ่ๆที่กัดทั้งเจ็บและคัน ยุงรำคาญ แม้กระทั่งบนตึกสูงก็ยังมียุงบินสร้างความรำคาญแก่ประชาชนทั่วไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับเมื่อ 4-5 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งตนตั้งข้อสันนิษฐานว่า เป็นเพราะในขณะนี้ ทั้งพื้นที่ในเมืองและนอกเมืองเต็มไปด้วยแหล่งน้ำเสีย น้ำเน่า และน้ำขังตามซากเศษวัตถุเครื่องใช้ต่างๆจำนวนมาก โดยที่เหล่านี้จะเป็นแหล่งฟักตัวของลูกน้ำยุงเป็นอย่างดี ทำให้ยุงกระจายตัวไปในที่ต่างๆมากยิ่งขึ้น

“ขอตั้งข้อสังเกตการกำจัดยุง ทั้งของกทม.และของหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากฉีดพ่นยาตามบ้านเรือนแล้ว ยังมีการฉีดยาเข้าไปในท่อน้ำเสีย อันเป็นที่อาศัยของยุงจำนวนมากด้วย ซึ่งยาที่ใช้ฉีดนั้น เป็นยาสูตรเก่าที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม ยุงจำนวนหนึ่งตายไปจากยาฉีดดังกล่าวก็จริง แต่ก็มียุงอีกจำนวนมากที่ไม่ตาย และหนีตายจากท่อดังกล่าวไปได้ ก็จะกระจายตัวไปอยู่ตามบ้านเรือน ตึกรามบ้านช่องต่างๆ และไม่ใช่เรื่องแปลกหากเข้าไปในตึกได้แล้ว จะมีช่องทางมากมายที่จะบินขึ้นไปอยู่บนชั้นสูงๆของตึกได้ ” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าว

อดีตผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า ยุงที่อยู่ตามตึกเหล่านี้ คือ ส่วนหนึ่งที่รอดตายมาจากการฉีดยาไล่ยุงซึ่งไม่ตาย แต่กลับมีการสร้างภูมิต้านทานสำหรับยาไล่ยุงที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันได้อีกด้วย จะสังเกตได้ว่า ยุงยุคนี้ฉีดด้วยยาฆ่าแมลงไม่ค่อยตาย ยาที่ใช้อยู่ทำได้แค่เพียงไล่ยุงจากที่หนึ่งให้ไปอยู่อีกที่หนึ่งเท่านั้น และยุงที่หนีไปได้ก็จะสร้างลูกหลานที่มีความแข็งแรงต้านทานต่อยาฆ่าแมลงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

เมื่อถามว่า ทางกทม.หรือหน่วยงานท้องถิ่นควรเปลี่ยนสูตรยาฆ่ายุงให้มีความรุนแรง เพื่อให้ยุงตายสนิทหรือไม่ น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องปรึกษาส่วนที่เกี่ยวข้องให้ดีๆ เพราะสารเคมีที่รุนแรงขึ้นอาจจะไม่เพียงแค่ฆ่ายุงเท่านั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะคนด้วย แต่สิ่งที่ทำได้เลยที่จะลดปริมาณยุงได้คือ ช่วยกันทำลายแหล่งน้ำ ทั้งน้ำเน่าและน้ำที่ขังอยู่ตามที่ต่างๆซึ่งเป็นที่วางไข่ของยุงให้หมด โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง แหล่งน้ำเน่าน้ำเสีย กองขยะต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ที่สำคัญของยุงทั้งสิ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image