เดินหน้าปฎิรูปบัตรทอง คกก.เสนอตั้งสิทธิสุขภาพพื้นฐาน 3 กองทุนเท่ากัน พร้อมชูแพคเกจเสริมเพิ่ม ส่วนร่วมจ่ายต้องมีเงื่อนไขจำเพาะ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 2 : ยั่งยืนด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม ว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยยั่งยืน มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม โดยคณะกรรมการจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานประธาน ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการหารูปแบบระบบหลักประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน โดยหลักจะต้องให้ทุกกองทุนสุขภาพ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีสิทธิสุขภาพพื้นฐานที่เหมือนกันหมด ส่วนที่จะมีสิทธิสุขภาพเสริมเพิ่มเติมก็จะเป็นอีกขั้นหนึ่ง แต่พื้นฐานในการรักษาโรคต้องมีและต้องเหมือนกันทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการร่วมจ่ายหรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้ แต่ที่แน่ๆ จะมีกระบวนการให้ระบบเดินไปได้โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐเพียงอย่างเดียว ต้องปฎิรูปซึ่งรูปแบบมีข้อเสนออยู่มาก แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้อะไร แต่อยากให้มั่นใจและยืนยันว่า ใครได้สิทธิสุขภาพอะไรอยู่แล้ว ก็ยังคงได้อยู่ ไม่มีการไปลดทอนแต่อย่างใด และจะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ

ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า คณะกรรมการจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบฯได้ตั้งคณะทำงานของคณะกรรมการฯเพิ่มขึ้น 4 ชุด เพื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย 1.ยั่งยืนและเพียงพอ 2.ความเป็นธรรม 3.จัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และ4. ให้บริการแบบมีประสิทธิภาพ ในขั้นต้นคณะกรรมการฯจะเสนอของคณะทำงานชุดที่2ในเรื่องความเป็นธรรมก่อน โดยในเรื่องความเป็นธรรมระหว่างระบบประกันสุขภาพ เสนอให้มีการจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของประชาชน แบ่งเป็น 1.ชุดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพ 2.สิทธิประโยชน์เสริมตามข้อกำหนดของแต่ละกองทุน ซึ่งจะเป็นส่วนที่เพิ่มเติมโดยนายจ้าง เช่น บัตรทองขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สิทธิข้าราชการกำหนดโดยกรมบัญชีกลาง และประกันสังคมกำหนดโดยสำนักงานประกันสังคม และ3.ชุดสิทธิประโยชน์เสริม ซึ่งจะเป็นส่วนเพิ่มตามแต่ละบุคคลเองหรือประชาชนจ่ายเองได้

บัตรทอง02

Advertisement

ศ.นพ.ศุภสิทธิ์. พรรณารุโณทัย อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.). กล่าวว่า ในส่วนของการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานด้านสุขภาพ จะต้องพิจารณารายการที่จะกำหนดโดยยึดหลักเป็นบริการที่ผ่านการพิสูจน์ว่ามีคุณภาพและคุ้มทุนตามวิธีการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของประเทศ และความเป็นธรรมทางสุขภาพ ทั้งนี้ ชุดสิทธิประโยชน์หลักอาจจะต้องพิจารณาให้ประกอบทั้ง ชุดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพ และชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพขั้นครัวเรือนล้มละลายที่เป็นการรักษาที่มีราคาแพง

ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าวอีกว่า วิธีดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายคือให้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์หลักเกิดขึ้นนั้น จะต้องมีการตรากฎหมายให้เป็นกรอบปฏิบัติการร่วมกัน โดยจะต้องออกเป็นพรบ.ซึ่งขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)กำลังพิจารณา อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ใช้ประกันสุขภาพเอกชนจัดบริการตามชุดสิทธิประโยชน์หลัก ต้องมีกลไกกำกับให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์หลักเหมือนกัน และกรณีใช้ประกันสุขภาพเอกชนจัดบริการตามชุดสิทธิประโยชน์เสริม จะต้องดูให้ไม่ทับซ้อนกับสิทธิประโยชน์หลัก

ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า กรณีการกำหนดสิทธิประโยชน์หลักแล้วจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการร่วมจ่ายนั้น ในการออกแบบกฎหมายอาจจะออกแบบระบบร่วมจ่ายให้เป็นตามลำดับจากมากไปน้อยและมีระบบติดตามความเหลื่อมล้ำ โดยอาจจะพิจารณาใน 3 ส่วน คือ 1.ส่งเสริมระบบประกัน โดยให้ร่วมจ่ายก่อนป่วย กรณีที่ไม่ใช่สิทธิประโยชน์หลัก เช่น ค่าห้อง อาหารพิเศษ ส่วนเกินค่าอุปกรณ์การแพทย์ ที่บางส่วนอาจจะให้นายจ้างจ่าย 2.ร่วมจ่ายเมื่อป่วย เฉพาะกรณีเสริมจากสิทธิประโยชน์หลัก เช่น จ่ายเมื่อไปใช้บริการคลินิกนอกเวลา หรือหัตถการไม่เร่งด่วนนอกเวลา และ3.ร่วมจ่ายเมื่อป่วย กรณีสิทธิประโยชน์หลัก ให้กำหนดเพดานร่วมจ่ายต่อปี เพื่อลดภาระกรณีโรคเรื้อรัง อย่างในประเทศสวีเดนจะให้จ่ายทุกครั้งที่ไปรับบริการรักษาพยาบาล แต่ไม่เกิน 500 บาทต่อปี

“ในส่วนของคนจนกรณีการร่วมจ่าย อาจออกแบบระบบให้คนจนมีผู้รับผิดชอบแทน ซึ่งผมเสนอเองว่าให้จ่ายผ่านกองทุนสุขภาพตำบลที่สปสช.จัดสรรงบให้ส่วนหนึ่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)สมทบอีกส่วนหนึ่งมาใช้เป็นส่วนร่วมจ่ายเพื่อคนจน เท่ากับเป็นการมอบความรับผิดชอบการคัดกรองคนจนไปที่อปท.“ศ.นพ.ศุภสิทธิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image