ดัน กม.สกัดฉกแมวไทย ตื่นแก้ต่างชาติตีทะเบียน ไม่สิ้นหวังขึ้นทะเบียน ‘ศุภลักษณ์’

ผจก.สมาคมแมวไทยโบราณไม่สิ้นหวังขึ้นทะเบียน “ศุภลักษณ์” รอเจ้าของส่งข้อมูลตรวจคุณลักษณะเรื่อยๆ วอนรัฐบาลให้ความสำคัญ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม น.ส.พนารัตน์ คำฉัตร ผู้จัดการศูนย์แมวไทยโบราณและผู้จัดงานประกวดแมวพันธุ์ไทยโบราณ ภายในงาน “Pet Variety สิ่งมหัศจรรย์โลกแห่งสัตว์เลี้ยง” ที่ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม กล่าวถึงกรณีที่แมวไทย 4 สายพันธุ์ คือ ขาวมณี, วิเชียรมาศ, โกนจา และโคราช ถูกสหรัฐอเมริกาและอังกฤษนำไปสร้างหลักฐานเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของสายพันธุ์กับสมาคมแมวโลก แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งข้อสังเกตอาจไม่ใช่การจดสิทธิบัตรว่า กรณีนี้คือการจดทะเบียนสายพันธุ์แมวกับสมาคมแมวโลก แม้จะไม่ใช่การจดสิทธิบัตรแต่ก็ถือว่าใกล้เคียง เพราะการขึ้นทะเบียนแมวแต่ละสายพันธุ์ จะต้องพิจารณาจากรหัสทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของแมวเป็นสำคัญ

“ในกรณีของแมวไทย 4 สายพันธุ์นี้ ต่อให้ประเทศไทยจะใช้ชื่ออื่น แล้วไปยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสมาคมแมวโลกใหม่ เขาก็ไม่รับรอง เพราะเมื่อมีการตรวจดีเอ็นเอแล้วพบว่าสายพันธุ์ไปตรงกับที่สหรัฐและอังกฤษได้ขึ้นทะเบียนไว้ เรื่องก็จะตกไปทันที” น.ส.พนารัตน์กล่าวและว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงว่าแมวไทยซึ่งควรจะเป็นสมบัติของชาติกำลังจะตกไปอยู่ในมือของประเทศอื่น แมวไทยกำลังถูกคนจากประเทศอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของและไม่มีความรู้จริงกำหนดคุณลักษณะของสายพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ความเป็นแมวสายพันธุ์ไทยหายไปในที่สุด จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยอาจจะตั้งองค์กรกลางขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง หรือใช้วิธีสนับสนุนให้สมาคมแมวไทยโบราณซึ่งดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องนี้และมีความรู้อยู่แล้วดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

น.ส.พนารัตน์กล่าวถึงการรณรงค์ให้ผู้ที่เลี้ยงแมวไทยนำแมวที่เลี้ยงไปตรวจสอบคุณลักษณะว่าเข้าข่ายเป็นแมวสายพันธุ์ศุภลักษณ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของสายพันธุ์แมวไทยโบราณหรือไม่ เพื่อจะได้รวบรวมให้ได้ 200 ตัว ก่อนนำไปขึ้นทะเบียนกับสมาคมแมวโลก เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดขึ้นทะเบียนแสดงความเป็นเจ้าของสายพันธุ์ และสหรัฐและอังกฤษยินดีหลีกทางไทยดำเนินการขึ้นทะเบียนว่า หลังจากมีกระแสข่าวดังกล่าว ปรากฏว่ามีผู้เลี้ยงแมวไทยส่งข้อมูลแมวไปให้ตรวจสอบจำนวนมาก แต่จนถึงขณะนี้มีแมวที่เข้าข่ายว่าเป็นสายพันธุ์ศุภลักษณ์เพียง 1 ตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีแมวชนิดนี้อยู่ในความครอบครองอีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้น ยังคงรอให้มีการส่งข้อมูลให้ตรวจพิสูจน์ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ครบตามจำนวนที่สามารถนำไปขอขึ้นทะเบียนได้

Advertisement

ขณะที่นายทศพร ศรีศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีต่างประเทศนำแมวไทยไปขึ้นทะเบียนว่า อาจจะเป็นการขึ้นทะเบียนอะไรสักอย่าง อาจเป็นการขอจดวิธีการปรับปรุงพันธุ์ แต่การจดสิทธิบัตรทำไม่ได้ เพราะแมวไทยเป็นสัตว์ที่เกิดตามธรรมชาติ จะไม่มีการรับจดสิทธิบัตร หากต่างประเทศนำแมวไทยไปจดสิทธิบัตร ไทยสามารถคัดค้านได้ เพราะมีสมุดข่อยและบันทึกว่าแมวไทยมีลักษณะอย่างไรบ้าง มีข้อมูลที่จดบันทึกและสามารถอ้างอิงได้ว่าเป็นของไทย

“ขณะนี้ทางกรมทำประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมือง พ.ศ. … อีกครั้งครบทั้ง 4 ภาคของไทยเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ข้อมูลทันสมัย กำลังรอสรุปประเด็นเพื่อนำเสนอเข้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้ และเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป ร่าง พ.ร.บ.นี้จะเกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรพันธุกรรมของไทย โดยเฉพาะสัตว์พื้นเมือง เช่น โคขาวลำพูน แมวโคราช เป็นต้น เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ครอบคลุมทั้งการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมือง การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์ การแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์ ใครจะเอาไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้าจะต้องขออนุญาต ร่าง พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย ดำเนินการยกร่างมาหลายปี เราไม่เคยมี พ.ร.บ.เกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์สัตว์เลย มีแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช” นายทศพรกล่าว

นายทศพรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขณะที่ยังไม่มี พ.ร.บ. นี้ใช้ กรมมีระเบียบให้ชุมชนนำสัตว์ท้องถิ่นดั้งเดิมมาขึ้นทะเบียนสัตว์พื้นเมืองประจำถิ่นเพื่ออนุรักษ์ไว้เช่นกัน ก็จะมีฐานข้อมูลที่จะรักษาพันธุกรรมเหล่านี้ไว้ได้ ใครจะนำสัตว์เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต้องขออนุญาต หรือชาติอื่นจะนำไปจดเป็นของตัวเอง ไทยก็สามารถคัดค้านได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image