อุทยานฯเข้ม ออก 10 มาตรการ สกัดอหิวาต์ระบาด ใน ‘หมูป่า’

อุทยานฯเข้มสกัดอหิวาต์หมูระบาด “หมูป่า” คลอด 10 มาตรการให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตาม เจอหมูป่าตายผิดปกติแจ้งกรมทันที เข้มงวดนำเนื้อหมูเข้าอุทยานฯ-งดใช้เศษอาหารเลี้ยงสัตว์ป่า หากจำเป็นต้มให้สุกก่อน

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ เรื่องขอให้เข้มงวดในการเฝ้าระวังอาการป่วย/ตายผิดปกติของหมูป่าเพื่อเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย และสามารถก่อโรคในหมูป่าได้เช่นเดียวกัน โดยมีแนวทางและมาตรการในการดำเนินการ ดังนี้

1.สังเกตอาการป่วย/ตายผิดปกติของหมูป่าในพื้นที่รับผิดชอบ และให้เข้มงวดในการเฝ้าระวังโรคในหมูป่า

2.กรณีพบหมูป่าป่วย โดยมีลักษณะอาการซึม ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก รอยช้ำที่ใบหู ท้อง ขาหลัง อาจพบอาการระบบทางเดินหายใจ หรือระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น มีน้ำมูก ท้องเสีย เป็นต้น หรือกรณีที่พบหมูป่าตายให้แจ้งสัตวแพทย์ในพื้นที่รับผิดชอบเข้าดำเนินการตรวจสอบ พร้อมเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ

3.ห้ามไม่ให้มีการนำสัตว์เลี้ยงเข้าสู่พื้นทีป่าอนุรักษ์ และควบคุมไม่ให้มีการใช้พื้นที่ชายขอบป่าอนุรักษ์ในการเลี้ยงสุกร

Advertisement

4.ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ร่วมกันเฝ้าระวังการป่วย/ตายผิดปกติของสัตว์ป่า พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปดำเนินการต่อไป

5.ในกรณีพบการป่วย/ตายของหมูป่าในพื้นที่รับผิดชอบให้รายงานกรมอุทยานฯ ทราบโดยด่วน

6.ขอให้เข้มงวดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากเนื้อสุกรและหมูป่าเข้ามาในพื้นที่ของหน่วยงานกรมอุทยานฯ หากจำเป็นต้องมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากเนื้อสุกรและหมูป่าขอให้พิจารณาแหล่งที่มาที่มีความน่าเชื่อถือและมีการรองรับการปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

7.ขอให้เข้มงวดในการกำจัดเศษอาหารที่มีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากเนื้อสุกรและหมูป่าเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากหมูป่าสามารถติดเชื้อนี้ได้จากการกินเศษอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน ถูกเห็บที่มีเชื้อกัด นอกจากนี้เชื้อไวรัสยังสามารถพบในเนื้อสุกรที่ไม่ได้ผ่านการปรุง รวมทั้งผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรกึ่งดิบกึ่งสุกที่ทำมาจากสุกรติดเชื้อ

8.ขอให้งดใช้เศษอาหารเลี้ยงสัตว์ป่า หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์ป่าด้วยเศษอาหาร ควรนำเศษอาหารไปต้มให้สุกก่อน (ต้มจนเดือด เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที)

9.ขอให้เข้มงวดในการจัดการบ่อขยะภายในหน่วยงานและรอบแนวเขตของหน่วยงาน

10. ให้จัดทำบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณทางเข้าพื้นที่ของหน่วยงาน เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมากับยานพาหนะได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image