เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชน กว่า 300 ราย เดือดร้อนต้องแบก ภาระต้นทุนการเลี้ยงไก่ชน ซ้ำหนักตลาดกดราคารับซื้อ เนื่องจากไก่ไม่มีประวัติผ่านสังเวียน
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ร่วมประชุมหาทางออกเพื่อความอยู่รอด จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 หลังต้องแบกรับภาระต้นทุนการเลี้ยงไก่ ในขณะที่ตลาดกลับกดราคาการรับซื้อไก่ชน เนื่องจากไก่ไม่ผ่านสังเวียน
น.ส.สิรินาฎ เส้งสุ้น อายุ 27 ปี เจ้าของฟาร์มไก่ชนชุมชนบ้านนางลาด ตำบลคูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ตนเลี้ยงไก่ชนในพื้นที่ 2 ไร่ ไก่ที่เลี้ยงรวม 200 ตัว ก่อนหน้านี้ ไก่ชนที่ฟาร์มส่งขายทั้งในและต่างจังหวัด โดยได้ราคาดี ต่ำสุดอยู่ที่ 3,000-30,000 บาท แต่หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชนทั้งรายย่อย และฟาร์มไก่ เดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากต้องแบกรับภาระต้นทุนในการเลี้ยง ทั้งค่าอาหาร โดยเฉพาะที่เลี้ยงเป็นฟาร์ม นอกเหนือจากจากอาหารไก่แล้ว ยังต้องเพิ่มค่าจ้างคนเลี้ยงดูไก่ด้วย
น.ส.สิรินาฎกล่าวต่อว่า ที่ฟาร์มของตน ใน 1 วัน มีต้นทุนการเลี้ยงไก่ 200 ตัวอยู่ที่ประมาณ เกือบ 2,000 บาท แต่กลับขายไก่ชนไม่ได้ราคา ต้องแบกรับภาระดังกล่าวมานานประมาณ 2 ปี เพราะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สนามกีฬาชนไก่ ไม่สามารถเปิดชนไก่ได้ ในช่วงปีแรกของสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มผู้ประกอบการยังพอพยุงตัวเองไปกันได้ เพราะต้องการร่วมรับผิดชอบสังคมในสถานการณ์เช่นนี้ แต่พอเข้าปีที่ 2 กลุ่มผู้ประกอบการหลายรายแบกรับภาระไม่ไหว ต้องทยอยขายไก่ทิ้ง ในราคา 300-500 บาท หวังเพียงแค่หน่วยงานของรัฐจะให้ความสำคัญกับอาชีพการเลี้ยงไก่ชนบ้าง เพราะอาชีพการเลี้ยงไก่ชน ถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถยกฐานะเศรษฐกิจของจังหวัดพัทลุง อีกทางหนึ่งด้วย
ด้านนายภูมิศักดิ์ เทิดวีระพงษ์ อายุ 36 ปี ประธานชมรมผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ชนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า การเลี้ยงไก่ชนถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ได้เป็นอย่างดี ไก่ชนพัทลุง นอกเหนือจากส่งขายในต่างจังหวัดแล้ว ยังมีส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เขมร และมาเลเซียด้วย
ไก่ชนจะมีราคาดีหรือไม่ กลุ่มผู้ซื้อจะใช้วิธีการผ่านสนามชนไก่ เพื่อเป็นตัวการันตี ยิ่งผ่านสนามราคาไก่ชนก็ยิ่งสูง แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มผู้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เนื่องจากไก่ที่เลี้ยงไม่มีโอกาสได้ลงสนามชน จึงทำให้ไก่ชนราคาตก
ตนในฐานะประธานชมรมฯ จึงขอเรียกร้องให้ทางจังหวัด พิจารณาให้การช่วยเหลือ และหันมามองกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ชนในพื้นที่จังหวัดพัทลุงบ้าง เพื่อให้พวกตนได้มีโอกาสผ่านวิกฤต ความเดือดร้อนนี้ไปได้
นายภูมิศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า การเปิดสนามชนไก่ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ให้อยู่รอด รวมทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ซึ่งทางชมรมฯ ยินดีปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ทางจังหวัดกำหนดอย่างเคร่งครัด
โดยหลังจากนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชนใน จ.พัทลุง จะได้ทำหนังสือ เพื่อร้องขอความช่วยเหลือ จากทางจังหวัดพัทลุง ต่อไป