เผย ‘หมอกธุมเกตุ’ ปกคลุมกรุง อาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ภาพโดย Bigg Siriojwong

ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีที่มีการแชร์ภาพปรากฏการณ์ “หมอกธุมเกตุ” เป็นลักษณะหมอกบางๆ เกิดขึ้นในเวลากลางคืน ในพระราชพงศาวดารระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต “หมอกธุมเกตุ” จะปรากฏขึ้นมา ซึ่งเคยเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้มาแล้วเมื่อมีเหตุการณ์สวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นั้น

ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ผู้เชี่ยวชาญทางภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ กล่าวว่า คำว่า “ธุมเกตุ” โดยรากศัพท์ หมายถึง ควัน “ธุม” (อ่าน ทุม-มะ) แปลว่า ฝุ่น, ควัน หรือดาวหางก็ได้ เมื่อใช้คำนี้ในการบรรยายสภาพบรรยากาศ หมายถึง บรรยากาศที่เงียบ สงบ ไม่มีแดด ปกคลุมด้วยหมอกควัน หรือบรรยากาศที่ครึ้มไปหมด ในพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน มีตอนที่กล่าวถึงสาวกซึ่งเดินทางมาร่วมถวายพระเพลิง โดยปรากฏคำว่า “ธุมเกตุ” ในลักษณะที่ว่า บรรยากาศเงียบ สงบ ไร้แดดแผดเผา ทำให้เดินทางมาได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ตาม ได้เจือบรรยากาศที่โศกเศร้า นอกจากนี้ “ธุมเกตุ” ยังปรากฏในพระราชพงศาวดารมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นที่รักของราษฎรเสด็จสวรรคต จะมีการบรรยายถึงหมอกธุมเกตุ ซึ่งปกคลุมบรรยากาศไปทั่ว สื่อความถึงผู้มีบุญที่ล่วงลับดับสูญ

ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ได้มีการบันทึกไว้เช่นกัน

Advertisement

รศ.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ตามธรรมชาติแล้ว หมอกจะเกิดในช่วงเวลาที่มีอากาศชื้น หากมีแสงสว่างก็จะยิ่งมองเห็นได้ชัด ช่วงเวลานี้เป็นปลายฝน ต้นหนาว เวลากลางคืนไปถึงช่วงกลางดึก อากาศค่อนข้างจะเย็น เพราะมีมวลอากาศเย็นแผ่กระจายลงมาปะทะกับความชื้นจากทะเล ประกอบกับแสงจันทร์ที่ค่อนข้างสว่าง ทำให้เห็นหมอกค่อนข้างชัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image