จิตแพทย์แนะ ‘สิ่งพึงทำ’ หลังชาวไทยสูญเสียครั้งใหญ่

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้าที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงวิธีการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนหลังเหตุการณ์การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ว่า การดูแลสุขภาพจิตของประชาชนโดยเฉพาะในยุคที่มีช่องทางการรับรู้ข่าวสารที่มากขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญ แม้เดิมจะเคยผ่านเหตุการณ์การสูญเสียเช่นนี้มาแล้วก็ตาม ทั้งนี้ สิ่งที่พึงทำจากบทเรียนนานาชาติคือ 1.ต้องช่วยให้ประชาชนได้แสดงออกให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านพิธีกรรมของรัฐตลอด 30 วัน เช่น กิจกรรมไว้อาลัย สวดมนต์ และพิธีกรรมของแต่ละศาสนา เพราะจะช่วยให้ลดความทุกข์ใจของประชาชนได้เป็นอย่างดี 2.ต้องส่งเสริมให้ประชาชนสามารถแสดงความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อพระประมุข เช่น การเขียนความรู้สึก การเล่าเรื่องประทับใจเพราะจะช่วยเยียวยาประชาชนได้มากที่สุด 3.มีส่วนร่วมในการทำสิ่งที่ดีงามต่อพระองค์ เช่น กิจกรรมจิตอาสา หรือการบริจาคต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดียิ่งขึ้น 4.ช่วยกันดูแลคนใกล้ชิดที่อาจจะได้รับผลกระทบทางจิตใจสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่มีความรู้สึกผูกพันต่อในหลวง กลุ่มเด็กที่อาจจะรู้สึกสับสนต่อปฏิกิริยาของผู้ใหญ่และกลุ่มผู้ที่มีความเครียดจากปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาจากครอบครัวหรือเศรษฐกิจ และ 5.ร่วมกันสืบทอดปณิธานของในหลวง เช่น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการน้ำ หรือโครงการพระราชดำริต่างๆ

“สิ่งที่พึงระวังในระยะเวลานี้ได้แก่ 1.ต้องไม่ปิดกั้นการแสดงออกถึงความรู้สึก อย่าให้รู้สึกสิ้นหวังท่วมท้นจนมองไม่เห็นทางออกของสังคม 2.ไม่แสดงออกความรู้สึกที่จะไปกระตุ้นความขัดแย้งและความเห็นต่างในสังคม และ 3.ไม่หาแพะรับบาปว่าใครเป็นคนผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” นพ.ยงยุทธ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image