‘โรดแมป’จัดการขยะได้แล้ว20ล้านตัน ยูเอ็นดีพีชี้ทั่วโลกกำจัดถูกต้องแค่ 0.3%

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ มีการสัมมนาในหัวข้อการจัดการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในประเทศไทย โดยมีภาคเอกชนและภาครัฐ จากทั้งไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วม

นายวิจารย์ สิมะฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีกฎหมายด้านการจัดการขยะ 34 ฉบับ และมีโรดแมปการจัดการปัญหาขยะ โดยการกำจัดขยะเก่า ซึ่งขณะนี้กำจัดไปแล้ว 20 ล้านตันจาก 30 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ต้องสร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยใหม่และสร้างความตระหนักต่อคนในประเทศ ทั้งนี้ การกำจัดขยะปัจจุบันมีแนวทางใช้การรื้อร่อนทำเชื้อเพลิง แต่เรื่องนี้ต้องคำนึงว่าหากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าในท้องถิ่นเพื่อใช้พลังงานจากขยะนั้นจะต้องใช้ขยะถึงวันละ 300-400 ตัน ซึ่งชุมชนในประเทศไทยผลิตขยะวันละ 10 ตัน ดังนั้น หากจะมองในเรื่องนี้จริงๆ จะต้องร่วมมือกันระหว่างท้องถิ่น อีกทั้งต้องมองในเรื่องการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า ในด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษด้วย ทั้งนี้ มองว่าปัญหาของไทยคือ กฎหมายควบคุมกระจัดกระจาย ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพในการจัดการ และที่ผ่านมาเน้นการจัดการขยะมูลฝอยปลายทาง ซึ่งขณะนี้ มีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ …) พ.ศ. … และ พ.ร.บ.กำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … เนื่องจากที่ผ่านมามีการกำจัดขยะประเภทอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกต้อง

น.ส.คาคุโกะ โยชิดะ (Ms.Kakuko Yoshida) เจ้าหน้าที่ประสานงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ UNEP กล่าวว่า การพัฒนาทางสิ่งแวดล้อมต้องมีแนวคิดที่เปลี่ยนไปคือการทำขยะมาเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เช่นนั้นขยะที่จะต้องนำไปฝังกลบดินก็จะไม่ลดจำนวนลง ทั้งนี้ ในจำนวนขยะนั้น ขยะอันตรายเป็นสิ่งที่ดูแลได้ยากที่สุด หากไม่มีการสร้างระบบการดูแล การจำกัดขยะอันตรายที่ดีก็ควรจะต้องร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและดูแล เพราะบางครั้งขยะที่ออกจากประเทศหนึ่งไปก่อให้เกิดปัญหาในอีกประเทศ ปัจจุบันพบว่ามีขยะจากทั่วโลกเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น ที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องสหประชาชาติอยากจะเพิ่มสัดส่วนนี้ให้มากขึ้น เนื่องจากการกำจัดขยะในอนาคตนั้นจะช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 15-20 เลยทีเดียว

นายจุนนิชิ โซโนะ ผู้ว่าการเมืองคิตะคิวชู (Kitakyushu) กล่าวว่า ช่วงแรกนั้นเมืองนี้มีความเจริญมากเพราะมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากในเมือง ทำให้มีจำนวนขยะเพิ่มขึ้นมาจำนวนมากและมีมลพิษ จึงส่งผลให้สภาพแวดล้อมของเมืองเปลี่ยนแปลงไป เกิดมลภาวะในอากาศในสิ่งแวดล้อมรอบๆ เมือง น้ำเสีย ส่งผลให้ประชากรในเมืองได้รับความเดือดร้อน จึงได้ร่วมมือกับประชากรท้องถิ่น เทศบาลเมืองและโรงงานอุตสาหกรรมในเมือง ช่วยกันแยกขยะโดยประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือ มีการกำหนดจุดทิ้งขยะแต่ละประเภทและกำหนดเวลาจัดเก็บขยะ จัดการของเสียภายในเมืองจากเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษ ปัจจุบันเมืองมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นมากจนรัฐบาลหลายประเทศขอเข้ามาทัศนศึกษาดูงาน โดยปัจจุบันมีเตาเผาขยะ 3 แห่งและมีโรงงานรีไซเคิลกระป๋องและขวด 2 แห่ง ซึ่งขยะที่นำไปเผานั้นจะเป็นขยะที่ก่อไฟฟ้าได้ ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลหรือเผาได้ก็จะนำไปฝังกลบ เช่น การรีไซเคิลขวดพลาสติก (PET) ให้เป็นเส้นใยแล้วนำไปทำเป็นเสื้อผ้า โดยมีการสนับสนุนให้ประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลด้วย

Advertisement

นายธราพงษ์ วิทิตศานต์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การประสบความสำเร็จของญี่ปุ่นนั้น มาจากความมีระเบียบวินัยและความร่วมมือของประชาชนที่มีการคัดแยกขยะจากบ้านเรือนเลย ทำให้การจัดการขยะของญี่ปุ่นไม่มีต้นทุนในการคัดแยกขยะและมาจากการบริหารจัดการของเทศบาลเมือง ดังนั้น ไทยต้องเริ่มจากการคัดแยกขยะก่อน เพราะการแยกขยะเป็นต้นทุนที่สูงมาก ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทุกคนให้เข้าใจว่าการแยกขยะมีเพื่ออะไรและทำให้เห็นว่าปลายทางการแยกขยะนั้นจะเป็นไปอย่างไร เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าที่แพรกษาควรจะเกิดขึ้น เพราะหากไม่เกิดก็จะไม่มีตัวอย่างในการจัดการขยะ อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่เหมาะในการสร้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image