‘สถาบันราชประชาสมาสัย’ พระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อน และลูกหลาน

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ว่า พระองค์ท่านมีพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์มากมาย และทรงห่วงใยประชาชน อย่างในเรื่องการควบคุมโรคติดต่อ ทั้งโรคเรื้อน วันโรค หรือแม้แต่โรคโปลิโอ ยกตัวอย่าง การจัดตั้ง “สถาบันราชประชาสมาสัย” จุดเริ่มต้นจากภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นมีอัตราผู้ป่วยโรคเรื้อนสูงกว่าภาคอื่นๆ จึงได้ทรงสนพระราชหฤทัยในโครงการทดลองควบคุมและบำบัดโรคเรื้อนของกระทรวงสาธารณสุข และทรงรับโครงการควบคุมโรคเรื้อนของกระทรวงสาธารณสุขไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ รวมทั้งให้จัดตั้ง “สถาบันราชประชาสมาสัย” ขึ้นพระองค์ยังมีพระราชดำรัสให้ดูแลลูกของผู้ป่วยโรคเรื้อน รวมไปถึงลูกของผู้ป่วยโรคเอชไอวี/เอดส์

“พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับงานด้านสาธารณสุข เพื่อดูแลประชาชนอย่างมากมาย อย่างการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้น้อมนำพระราชดำริในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยเราสามารถใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับงานด้านสาธารณสุขได้ ทั้งหลักเหตุและผล หลักพอประมาณ และหลักบริหารความเสี่ยง ยกตัวอย่าง การบริโภคหากกินมากเกินไป ไม่ออกกำลังกาย ก็จะทำให้อ้วน และเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดังนั้น หากกินอย่างพอประมาณ กินหลากหลายครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เหมาะสมกับแต่ละคน ก็เป็นการปฏิบัติตามพระราชดำรัสแล้ว ดังนั้น ทุกคนรักพระองค์ท่าน ก็ขอให้หันมายึดหลักคำสอนของพระองค์ท่านกัน” ปลัด สธ. กล่าว

ภาพจากเฟซบุ๊กสถาบันราชประชาสมาสัย
ภาพจากเฟซบุ๊กสถาบันราชประชาสมาสัย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “กระทรวงสาธารณสุข” แชร์ข้อมูลจากกลุ่มเฝ้าระวังสือและตอบโต้ กรมควบคุมโรค ถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้ป่วยโรคเรื้อน โดยระบุว่า

Advertisement

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรบ้านเมืองในกรุงเทพฯ โรคภัยอีกอย่างหนึ่งที่ทรงพบคือ โรคเรื้อน ผู้ที่เป็นโรคไม่ได้รับการรักษาและอยู่ร่วมกับผู้คนปกติทั่วไป ทรงวิตกด้วยเป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลทุกขเวทนาต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย เนื่องจากถูกผู้คนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวแสดงอาการรังเกียจหวาดกลัว เสมือนผู้ป่วยโรคนี้เป็นอาชญากรที่ต้องถูกจับกุม ส่งผลให้ผู้ป่วยหลบซ่อนตัวไม่ยอมให้ใครมารักษาบำบัดทำให้โรคแพร่ออกไปอีกมาก

เมื่อปี 2498 มีการแพร่ระบาดของโรคเรื้อนเกิดขึ้นอย่างมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดทำโครงการควบคุมโรคดังกล่าวขึ้น ซึ่งตามโครงการดังกล่าวต้องใช้เวลาถึง 12 ปี เพื่อหยุดการระบาดของโรคนี้ พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นเวลาที่นานเกินไป จึงทรงให้เร่งรัดโครงการให้เหลือ 8 ปี และทรงรับโครงการควบคุมโรคเรื้อนของกระทรวงสาธารณสุขไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ รวมทั้งให้จัดตั้ง “สถาบันราชประชาสมาสัย” ขึ้นที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อทำหน้าที่ดูแลให้การบำบัดฟื้นฟู และค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อน รวมทั้งฝึกอาชีพให้ผู้ป่วยด้วย และได้พระราชทานเงินทุนอานันทมหิดล สร้างอาคาร 4 หลัง ในบริเวณสถานพยาบาลพระประแดง เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาอบรมเจ้าหน้าที่ในการบำบัดโรคเรื้อน โดยเริ่มเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2503 ปัจจุบันตามรายงานสถานการณ์โรคเรื้อนของสถาบันราชประชาสมาสัย เมื่อปี 2548 ปรากฎว่ามีผู้ป่วยโรคเรื้อนมาขึ้นทะเบียนรักษาทั่วประเทศจำนวน 1,560 คน ซึ่งในอดีตจะมีผู้ป่วยโรคนี้ 50 คนต่อประชากร 10,000 คน

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินส่วนหนึ่งจากทุนอานันทมหิดล ในการจัดสร้างสถาบันค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อนขึ้นในพุทธศักราช 2501 ณ โรงพยาบาลโรคเรื้อนที่ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พระราชทานนามว่า ราชประชาสมาสัย อันมีความหมายว่าพระราชากับประชาชนร่วมมือกัน เนื่องด้วยมีประชาชนจำนวนมากได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลในการจัดหาทุน และได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินที่เหลือจากการจัดสร้างอาคารแก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้ในกิจการควบคุมโรคเรื้อนต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ สำหรับลูกหลานของผู้ป่วยที่ถูกเลี้ยงแยกออกมาและไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนหนังสือ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงเรียนราชประชาสมาสัยขึ้นที่ตำบลบางจาก อำเภอ พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และทรงติดตามความก้าวหน้าของโรงเรียนตลอดมาจนสามารถจัดตั้งมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย เพื่อสนับสนุนโรงเรียนราชประชาสมาสัย ซึ่งต่อมาได้อยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ

ภาพจากเฟซบุ๊กสถาบันราชประชาสมาสัย
ภาพจากเฟซบุ๊กสถาบันราชประชาสมาสัย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image