‘สงกรานต์ ’เมืองกรุง รื่นเริงเทศกาลไทยวิถีใหม่

‘สงกรานต์’เมืองกรุง รื่นเริงเทศกาลไทยวิถีใหม่

โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ “เทศกาลสงกรานต์” ของกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาบรรยากาศในหลายพื้นที่เงียบเหงาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากรัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนงดจัดกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนั้น รัฐบาลได้ประกาศเลื่อนวันหยุดของเทศกาลสงกรานต์ ช่วงวันที่ 13-15 เมษายน ออกไปเป็นหยุดชดเชยช่วงเดือนกรกฎาคม ถือเป็นครั้งแรกของคนไทยและคนกรุงเทพฯ ที่ต้องยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ในวันสงกรานต์ รวมถึงงดเว้นการเดินทางข้ามจังหวัด งดเว้นการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด

ต่อมาในปี 2564 แม้จะเริ่มผ่อนคลายขึ้น แต่ยังเป็นอีกปีที่คนไทยต้องปรับตัวกับการฉลองปีใหม่ไทยที่แตกต่างออกไปจากวิถีเดิม เพราะยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การสาดน้ำ การจัดงานรื่นเริง รวมถึงกิจกรรมหลายอย่างทำได้แค่บางส่วน และจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด

มาถึงปี 2565 ที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของการอยู่ร่วมกับโรคระบาด ขณะนี้คนไทยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 ครอบคลุมร้อยละ 80.1 ของประชากรทั้งหมด เข็มที่ 2 ร้อยละ 72.5 ของประชากรทั้งหมด และเข็มที่ 3 ร้อยละ 34.8 ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2565) ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการ อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณี เช่น สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี ในพื้นที่ที่จัดงานให้มีการเล่นน้ำได้ แต่ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง (COVID Free Setting) และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร ผู้ร่วมงานต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน แต่ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน และห้ามเล่นน้ำในพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ เนื่องจากไม่มีการควบคุมตามมาตรการโควิด-19 หากจะมีเรื่องบันเทิง สันทนาการ จะต้องมีการขออนุญาตตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นผู้พิจารณา

สำหรับพื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” นั้น ตามที่สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กทม. ได้วางแผนเตรียมการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2565 เวลา 10.00-22.00 น. ที่ลานสแควร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปัจจุบันที่มีผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้จะไม่สูงเท่ากับการระบาดในระลอกแรกๆ แต่ล่าสุด กทม.ได้ประเมินสถานการณ์และประกาศงดจัดกิจกรรมดังกล่าว ด้วยหวั่นเกรงว่าการรวมตัวของคนจำนวนมาก อาจจะไม่เป็นผลดี โดยขอให้ประชาชนฉลองสงกรานต์ที่บ้านตามนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่งดการจัดงานเช่นกัน และขอให้ประชาชนรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ญาติผู้ใหญ่ที่บ้าน อยู่กับครอบครัว ไม่ออกจากบ้านไปรับความเสี่ยง นอกจากนี้ ในส่วนของถนนข้าวสารและถนนสีลม ซึ่งเป็นไฮไลต์ในการกิจกรรมสงกรานต์ในช่วงก่อนมี
โควิด-19 ก็แจ้งงดจัดกิจกรรมเช่นกัน

Advertisement

สำหรับ 50 สำนักงานเขต ก็ได้แจ้งงดจัดงานสงกรานต์ใน 47 เขต มีเพียง 3 เขต ที่ยังคงจัดกิจกรรม ได้แก่ ที่สำนักงานเขตพระโขนง เขตบางบอน ที่วัดโพธิ์พุฒตาล ที่แจ้งไว้ว่าจะมีการจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ 8 เมษายน และที่สำนักงานเขตลาดพร้าว ในวันที่ 11 เมษายน โดยมีกิจกรรมทางศาสนาและการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย อาทิ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี งานสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขนาดเล็กๆ ยังคงมีบ้างประปราย และประชาชนยังสามารถเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมได้ โดยภาคเอกชนขออนุญาตจัดงาน 2 พื้นที่ คือ

1.งาน “ไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์ 2565” ระหว่างวันที่ 8-17 เมษายน ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม มีกิจกรรม อาทิ สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคล มีเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรม และจำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์

Advertisement

2.งาน Water Festival 2022 เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน บริเวณ 9 ท่าน้ำร่วมสมัย ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, ท่ามหาราช, เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เดอะล้ง 1919 และสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม โดยจะมีกิจกรรมไหว้พระทำบุญ และจำหน่ายสินค้าชุมชน ทั้งหมดนี้ จัดกิจกรรมภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อาทิ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องแสดงผลการฉีดวัคซีน มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้า-ออก ควบคุมจำนวนคน จำกัดพื้นที่ 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร เป็นต้น

“นายปิยะ พูดคล่อง” ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. ได้คาดการณ์รายได้ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ของพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า เบื้องต้นคาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 23,400 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.5 เม็ดเงินใช้จ่ายปรับตัวลดลงเกือบทุกกิจกรรม เพราะคนมีแผนทำกิจกรรมลดลงจากปีที่แล้ว เพราะโรคระบาดประกอบกับผลจากค่าครองชีพ และเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ระมัดระวังการใช้จ่าย เช่น จากเดิมที่เลี้ยงสังสรรค์นอกบ้าน ก็หันมาทำกับข้าวรับประทานกันเอง และลดปริมาณการซื้อวัตถุดิบเท่าที่จำเป็น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะที่การช้อปปิ้งซื้อสินค้า ส่วนใหญ่ยังคงซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายเป็นหลัก แต่จำนวนการซื้อสินค้าลดลง และตัดสินใจซื้อตามโปรโมชั่น…

รื่นเริง ฉลองอย่างเงียบๆ ตามยุคสมัยไวรัสครองเมือง เศรษฐกิจไม่สร่างไข้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image