เครือข่ายแรงงานโต้สุดฤทธิ์! ค้านมติค่าแรงขั้นต่ำไม่เป็นธรรม ปรับขึ้น 5 บาทจะกินอะไร

แฟ้มภาพ

ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ในปี 2560 แบ่งค่าจ้างเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรกไม่ขึ้นค่าจ้างใน 8 จังหวัด กลุ่มที่ 2 ขึ้นค่าจ้าง 5 บาท ใน 49 จังหวัด กลุ่มที่ 3 ขึ้นค่าจ้าง 8 บาท ใน 13 จังหวัด และกลุ่มที่ 4 ขึ้นค่าจ้าง 10 บาท ใน 7 จังหวัด นั้น

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ของคณะกรรมการค่าจ้างว่า ทาง คสรท.และพี่น้องแรงงานต่างไม่พอใจ เพราะผลที่ออกมาทำให้เสียความรู้สึก เนื่องจาก 1.มีจังหวัดที่ไม่ได้ปรับค่าจ้าง หนำซ้ำจังหวัดที่ได้ปรับสูงสุดเพียง 10 บาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจังหวัดที่ไม่ปรับก็หนักไปอยู่ทางภาคใต้ ความจริงไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะภาคใต้มีความเป็นอยู่ลำบาก ไม่ควรไปกดค่าจ้าง ไม่เพิ่มเลย

“รัฐบาลบอกว่าจะพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และจะเอาเศรษฐกิจไปลงสามจังหวัดภาคใต้ แต่กลับไม่เพิ่มค่าแรงให้คนในจังหวัด แสดงว่าจะทำให้เป็นจังหวัดที่มีค่าแรงต่ำสุดหรือไม่อย่างไร  แบบนี้มองได้หลายมุม เราจึงสงสัยว่าทำไมไม่ปรับให้เท่ากันทั่วประเทศ หากจะปรับ 10 บาท ก็ควรทุกจังหวัดเท่ากันก็ยังดีกว่าปรับขึ้น 5 บาท 8 บาท  10 บาท ไม่เท่ากันแต่ละจังหวัดอีก ปรับแบบนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ค่าครองชีพ ค่ากินค่าอยู่ จะทำอะไรได้” นายชาลีกล่าว

นายชาลีกล่าวอีกว่า 2.น่าสังเกตว่ามีการพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ 10 รายการระบุกว้างๆ แต่ไม่มีรายละเอียด ซึ่งหากเป็นไปได้ควรจะชี้แจงว่า จังหวัดที่ไม่ปรับได้คะแนนเท่าไร และเกณฑ์คืออะไร และแต่ละข้อใครเป็นผู้พิจารณา นักวิชาการคนไหน ไปเอาตัวไหนเป็นตัวตั้งในการพิจารณา ซึ่งเรื่องแบบนี้มีคนตั้งข้อสังเกตเยอะ คนก็มองเรื่องความยุติธรรมหรือไม่ 3.ในเมื่อใช้คณะอนุกรรมการจังหวัดเป็นเครื่องมือมาตั้งแต่ต้น  และมีการเสนอก่อนหน้านั้นว่าควรปรับ 13 จังหวัดในอัตรา 4 บาทไปจนถึง 60 บาท แต่พอมาถึงขั้นคณะกรรมการค่าจ้างกลับไม่ได้เอาข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการจังหวัดเลย แบบนี้จะมีไปทำไม

Advertisement

“อย่างกรณีปรับขึ้น 5 บาท หากคิดจริงๆ ผ่านมา 5 ปีเพิ่งจะมาปรับค่าจ้าง ดังนั้น เราคิดเฉลี่ยแล้วตกปีละ 1 บาทเอง  ถามว่าปรับเพิ่มปีละ 1 บาท ถูกต้องหรือไม่ เครือข่ายแรงงานจะมีการหารือกัน และจะทำหนังสือร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้  เนื่องจากส่งผลกระทบต่อแรงงานทุกคน” นายชาลีกล่าว

 

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image