กทม. ยืดเวลาชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถึง 30 มิ.ย.นี้

กทม. ยืดเวลาชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถึง 30 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 โดยส่งแบบประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีภาษี 2565 ให้แก่ผู้เสียภาษี จากภายในเดือนมีนาคม เป็นภายในเดือนเมษายน 2565 และให้ชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี จากภายในเดือนเมษายน เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ ณ สำนักงานเขตที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ พร้อมคิวอาร์ โค้ด (QR CODE) ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

และมีการจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ รวมถึงตรวจสอบอัตราการจัดเก็บภาษีฯ ตามการใช้ประโยชน์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทต่างๆ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งติดประกาศไว้พร้อมกับประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ ณ สำนักงานเขตที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ และประกาศทางเว็บไซต์ของฝ่ายรายได้แต่ละสำนักงานเขตที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ ตลอดจนตรวจสอบช่องทางการแจ้งแก้ไขข้อมูลในกรณีที่พบว่าใบประเมินเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้อง

โดยผู้เสียภาษีสามารถยื่นคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ สำนักงานเขตที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ หรือสแกนคิวอาร์ โค้ด ในใบแจ้งการประเมินเพื่อยื่นคำร้องคัดค้านฯ พร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้อง หรือยื่นคำร้องคัดค้านฯ ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ของฝ่ายรายได้แต่ละสำนักงานเขตที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ก็ได้

Advertisement

นางสุธาทิพย์ กล่าวว่า ในส่วนของช่องทางการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กทม.ได้เพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการชำระภาษีได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ดังนี้ 1.สำนักงานเขต 2.ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ 3.เครื่องเอทีเอ็ม (ATM) ของธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ 4.บัตรเครดิตประเภท Visa และ Master ของธนาคารและสถาบันการเงินทุกแห่ง หรือบัตรกรุงไทยวีซ่าเดบิต และ 5.ทำรายการชำระเงินข้ามธนาคารด้วย Barcode หรือ QR Code โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการชำระภาษีประเภทต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร https://www.fdbma.net/ หรือติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเขตที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ หรือกองรายได้ สำนักการคลัง กทม. โทร 0-2224-3070 หรือ 0-2224-8266

“ทั้งนี้ กทม.ขอให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งที่เป็นบุคคลทั่วไปและนิติบุคคล ตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีของตนพร้อมชำระภาษีภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือว่ามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งภาษีที่จัดเก็บได้ กทม.จะนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่” นางสุธาทิพย์กล่าว

Advertisement

อนึ่ง รัฐบาลได้ประกาศอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป ให้มีอัตราเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563-2564 แต่จะต้องจ่ายเต็มจำนวน ไม่มีการปรับลดการจัดเก็บค่าภาษีลงร้อยละ 90 เหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงการคลังได้แจ้งว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้หลักที่นำเข้าสู่ท้องถิ่น การลดภาษีฯ ในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และขาดรายได้เพื่อนำไปพัฒนาและจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีนี้ผู้เสียภาษียังคงได้รับการบรรเทาภาระภาษีในหลายกรณี ได้แก่ 1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประกอบเกษตรกรรมได้รับยกเว้นภาษี 2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา และมีชื่อในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท 3.กรณีที่เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีสำหรับสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท

ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือไม่เกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท หรือเกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี จะเสียภาษีเต็มอัตราเฉพาะส่วนที่เกินเท่านั้น และ 4.การผ่อนปรนภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีกรณีมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สูงกว่าค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่เคยชำระในปี 2562 จะบรรเทาภาระให้โดยเสียภาษีเท่ากับค่าภาษีปี 2562 บวกกับร้อยละ 75 ของส่วนต่างค่าภาษีปี 2565 กับปี 2562

สำหรับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบัน กำหนดครอบคลุมที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภท ดังนี้ ประเภทที่ 1 ที่ดินเพื่อการประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ร้อยละ 0.01-0.1 ประเภทที่ 2 ที่อยู่อาศัย อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ร้อยละ 0.02-0.1 โดยแยกเป็น 3 ข้อย่อย ได้แก่ ข้อ 1. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ร้อยละ 0.03-0.1 ข้อ 2. สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ร้อยละ 0.02-0.1 และข้อ 3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกเหนือจาก 2 ข้อข้างต้น มีอัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ร้อยละ 0.02-0.1 ประเภทที่ 3 การใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากประเภทที่ 1 และ 2 หรือที่ดินกลุ่มพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ร้อยละ 0.3-0.7 และประเภทที่ 4 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

ยกเว้นมีกฎหมายห้ามหรือทิ้งไว้เพื่อการเกษตรหรือปล่อยไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ตั้งแต่ร้อยละ 0.3-0.7 และในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ให้เรียกเก็บภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในปีที่ 4 เพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีที่จัดเก็บเดิม ในอัตราร้อยละ 0.3 และหากยังทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพอีกเป็นเวลาติดต่อกัน ให้เพิ่มอัตราภาษีอีกร้อยละ 0.3 ในทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีที่เสียรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image