ศูนย์จีโนมฯ ห่วงโอมิครอนพันธุ์ย่อยใหม่ลามถึงไทย จี้เร่งฉีดวัคซีนสกัด

ศูนย์จีโนมฯ ห่วงโอมิครอนพันธุ์ย่อยใหม่ลามถึงไทย จี้เร่งฉีดวัคซีนสกัด

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกโรงเตือนให้ประชาชนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) เข้ารับวัคซีนให้ทั่วถึง เพื่อระงับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมฯ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายใหม่และผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจนอาจเข้าสู่ภาวะ “โลกประจำถิ่น” ที่ระบบสาธารณสุขเราควบคุมการระบาดได้ แต่เหตุใดเรายังสมควรต้องฉีดวัคซีนเข็มแรกหากยังไม่เคยฉีดและฉีดเข็มกระตุ้นทันทีเมื่อครบกำหนด

คำตอบคือโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.4” และ “BA.5” ในประเทศแอฟริกาและ “BA.2.12.1” ในสหรัฐอเมริกากำลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ (next wave) เข้ามาแทนที่ BA.2 และมีแนวโน้มสูงที่แพร่ไปทั่วโลกเหมือนกับเหตุการณ์การระบาดใหญ่ของโอมิครอนจากประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปีที่แล้ว (พฤศจิกายน 2564)

Advertisement

จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าแอนติบอดีที่ร่างกายเราสร้างขึ้นจากการติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ตามธรรมชาติ (natural infection) ไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ที่อุบัติใหม่ อย่าง BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ได้

คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่เพิ่งหายขาดจากการติดเชื้อ BA.1 ความสามารถของแอนติบอดีในร่างกายที่จะต่อต้านไวรัส BA.4 และ BA.5 ลดลงมากกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับความสามารถในการต่อต้าน BA.1 ในขณะที่ผู้ที่เคยฉีดวัคซีน (วัคซีนผลิตจากส่วนหนามของไวรัสอู่ฮั่น) และเพิ่งหายจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติ ความสามารถของแอนติบอดีในร่างกายที่จะต่อต้านไวรัส BA.4 และ BA.5 ลดลงไปเพียง 3 เท่า

อันหมายถึงลำพังแอนติบอดีจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้ดีนัก แต่หากมีการฉีดวัคซีนก่อนและมีการติดเชื้อ BA.1 ร่วมด้วย แอนติบอดีที่ร่างการสร้างขึ้นจะสามารถยับยั้งไวรัส BA.4 และ BA.5 ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ไม่ป่วยไม่ตาย เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่มีการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว

Advertisement

หมายเหตุ: ความสามารถของแอนติบอดีในร่างกายที่จะต่อต้านไวรัส (ในกรณีของไวรัสไข้หวัดใหญ่)ลดลง 8 เท่า เป็นเกณฑ์บ่งชี้ว่าได้มีการสูญเสียความสามารถในการป้องกันต้องมีการปรับปรุงวัคซีน(ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล)อย่างเร่งด่วน

ไวรัส BA.4 และ BA.5 และ BA.2.12.1 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งร่วมคือ “452” ของจีโนมของพวกมัน ทำให้ส่วนหนามมีความเสถียรมากขึ้นเข้าไปยึดเกาะกับปุ่มที่เรียกว่า “ACE-2 receptor” ที่ผิวเซลล์ของผู้ติดเชื้อได้แน่นขึ้นเพื่อจะแทรกตัวเข้าไปภายในเซลล์ และยังทำให้เซลล์หลายเซลล์มาหลอมรวมกัน(cell fusion) กลายเป็นหนึ่งเซลล์ (syncytia giant cell) ช่วยให้ไวรัสติดต่อผ่านเซลล์ต่อเซลล์ไม่ต้องออกไปนอกเซลล์ให้ถูกแอนติบอดีจับกุมทำลาย ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในระหว่างเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว

ไวรัส BA.4 และ BA.5 มีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง “486” ด้วยเช่นกัน คาดว่าช่วยให้ไวรัสซ่อนตัวจากระบบภูมิคุ้มกันของเราได้ในระดับหนึ่ง

ส่วน BA.2.12.1 มีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง “704” หน้าที่ยังไม่ชัดเจนคาดว่าจะส่งผลให้เซลล์หลายเซลล์มาหลอมรวมกัน (cell fusion)

ดังนั้นในช่วง “พักยก” (จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง) จึงควรรีบไปฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำหากมีการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 เข้ามาในประเทศไทย เพราะภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจาก BA.1 อาจไม่ช่วยปกป้องเรามากนักจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่” ศูนย์จีโนม ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image