10 ข่าวเด่นสังคม’ปีแพะ’ ใน’ดราม่า’ก็มี’เรื่องดีดี’ซ่อนอยู่

เป็นอีกปีที่สถานการณ์ด้านสังคมเกิดขึ้นมากมาย ตลอดทั้งปีก็มีทั้งเรื่องดี เรื่องดราม่า ปัญหาสะสมที่ยังรอการแก้ไข คละเคล้ากันไป

แต่ถ้าหากใครได้ติดตามสถานการณ์สังคมอย่างใกล้ชิด จะรู้ว่าปีนี้มีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นหลายเรื่องหลายราว

นับเป็นปีแห่งการ “วางรากฐาน” สังคมเลยก็ว่าได้ มาทบทวนสถานการณ์ข่าวด้านสังคมปี 2558 ผ่าน 10 ข่าวเด่น ดังนี้

1.คนพิการเฮ! ศาลสั่งกทม.สร้าง”ลิฟต์บนบีทีเอส”

Advertisement

เริ่มต้นปีเดือนมกราคมก็เรียกเสียงเฮจากคนพิการทั่วประเทศกว่า 2 ล้านคน ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีคนพิการฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) เกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยให้ กทม.ติดตั้งลิฟต์ และจัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ราวจับ ป้ายบอกทางคนพิการ บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกสถานี และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาวิเคราะห์กันว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นประกาศศิตที่จะมาคุ้มครองคนพิการ ทำให้หน่วยงานหรือองค์กรตื่นตัวที่จะปรับปรุงหรือสร้างอาคารสถานที่สาธารณะให้รองรับคนพิการ หากเพิกเฉยและมีข้อพิพาทสู่ศาล ก็จะเข้าอีหรอบเดิมเพราะศาลวางหลักการตีความไว้แล้ว

จริงๆ ขณะนี้ต้องเห็นสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการเป็นรูปเป็นร่างทุกสถานีแล้วนะ

lad01311258p2

2.ฮิต”โปรไฟล์สีรุ้ง”

เริ่มเข้าสู่ช่วงกลางปีเดือนมิถุนายนเป็นทีของ “กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน” ได้เฮบ้าง ภายหลังศาลสูงสหรัฐอเมริกา มีคำตัดสินเห็นชอบให้คู่รักเพศเดียวกัน สามารถแต่งงานกันได้ครอบคลุมทุกรัฐในประเทศสหรัฐ หลังจากนั้นก็เกิดพลังสนับสนุนไปทั่วโลก

ชาวเน็ตต่างโพสต์ข้อความแซ่ซ้องสรรเสริญ พลเมืองเฟซบุ๊กแห่กันเพิ่มสีรูปโปรไฟล์เป็นสีรุ้ง คนเด่นคนดังก็ออกมาหนุน เช่น นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ออกมาระบุว่า “คำตัดสินนี้ถือเป็นชัยชนะของชาวอเมริกัน เป็นสิ่งที่ทำให้สหรัฐสมบูรณ์พร้อมมากขึ้น”

ส่วนในประเทศไทย แม้ไม่ได้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายไปกับเขาด้วย แต่ก็สร้างการยอมรับต่อสังคมที่กำลังเปิดรับไม่น้อย เกิดเป็นความหวังให้เคลื่อนไหวผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …” ที่ให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้เช่นเดียวกัน

ซึ่งที่ผ่านมาร่างกฎหมายนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ต้องมานับ 1 ใหม่ เพราะเป็นร่างกฎหมายหนึ่ง ในกระทรวงยุติธรรมภายหลังรัฐประหาร 2557 แต่ก็นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ร่างกฎหมายนี้จะจัดทำให้รอบคอบขึ้น ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น

3.สหรัฐคงเทียร์ 3 ไทยเป็นปีที่ 2

เป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ระดับโลกในเดือนกรกฎาคม ภายหลังไทยถูกจัดอันดับเทียร์ 3 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2558 จัดโดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ทั้งๆ ที่ภาครัฐทุ่มสรรพกำลังจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แรงงานประมง และอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องไปไม่ใช่น้อย ขณะเดียวกันก็เกิดประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบประเทศมาเลเซียและคิวบา ที่ได้ขึ้นเทียร์ 2 อาจเป็นเรื่องผลประโยชน์ระหว่างประเทศ สวนทางกับสถานการณ์จริง

ช่วงเดือนนี้เองสหรัฐกำลังสุ่มตรวจอุตสาหกรรมประมงไทย ส่วนไทยกำลังจัดทำรายงานค้ามนุษย์ส่งให้สหรัฐ ประเมินก่อนเดือนมีนาคมนี้ ประกาศผลมิถุนายน 2559

4.เงินอุดหนุนเด็ก 400 บาท

เป็นโครงการที่หลายฝ่ายหมายมั่นปั้นมือว่าจะมายกระดับคุณภาพชีวิตเด็กไทย ตอนแรกหวังให้รัฐบาลอุดหนุนตั้งแต่อายุ 0-6 ปี รายละ 600 บาทต่อเดือน เอาอย่างนานาประเทศที่ทำแล้วเกิดผล สุดท้ายรัฐบาลเปิดตัวเป็นโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ให้สิทธิเด็กไทยที่เกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558-30 กันยายน 2559 ในครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน ให้ได้รับการอุดหนุน 400 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปีไปก่อน

แม้จะเริ่มต้นไม่สวยดั่งที่ฝัน แต่หลายฝ่ายดีใจที่รัฐบาลกล้าเริ่มต้น โดยขณะนี้เปิดรับลงทะเบียนและเริ่มจ่ายเงินอุดหนุนแล้ว และเปิดลงทะเบียนถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 นี้ สนใจสอบถามรายละเอียดศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

5.ผู้มีรายได้น้อยเฮลั่น! ผุดโปรเจ็กต์”บ้านยั่งยืน”

รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และไม่ห่างไกลเมืองมากนัก จึงดำเนินโครงการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย มอบหมายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพ

และมีสำนักงานการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นบทบาทนำ ที่ผ่านมาเคลื่อนไปบ้างกับโครงการบ้านยั่งยืน ที่เอาบ้านเอื้ออาทรที่ยังว่างอยู่มาปัดฝุ่นขาย 13,393 ยูนิต โครงการพัฒนาชุมชนเมืองดินแดง ที่ทุบแฟลตดินแดงแล้วสร้างใหม่ใหญ่กว่าเดิม จากสูง 4-5 ชั้นเป็น 25-35

ชั้น แต่ก็ไม่ง่ายเพราะมีแรงเสียดทานจากผู้อาศัยเดิม ส่วนในภาพรวมก็เคลื่อนไป ภายใต้คณะกรรมการที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ซึ่งมีแผนใช้พื้นที่ของรัฐในหน่วยงานต่างๆ มาจัดสรรสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย จำนวน 515,268 ยูนิต ใช้งบประมาณ 95,596 ล้านบาท

เป็นโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ดำเนินเร่งด่วน 3 ปี (2559-2561) ต้องเริ่มปีหน้า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.จึงให้ความสำคัญเรียกประชุมบ่อยครั้ง สุดท้ายความถี่การประชุมไม่ช่วยโครงการให้คืบหน้าไปอย่างไร บอร์ด กคช.จึงมีมติปลดนายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการ กคช.พ้นตำแหน่ง ตั้งรอง กคช.เบอร์ 1 มารักษาการ

6.จากร้านเหล้ารอบมหา”ลัย ถึงดราม่า”ดาราถือเบียร์”

รณรงค์เรื่องร้านเหล้ารอบสถานศึกษามาหลายสิบปี ปีนี้ก็โหมกระแสหนักไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร จนมามีเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น ยิงนักศึกษาเสียชีวิตหน้าร้านเหล้าย่านรังสิต เครือข่ายต้านเหล้าก็ออกมาโหมกระแสขอให้จัดโซนนิ่ง ร้านเหล้าต้องห่างสถาบันการศึกษาอย่างน้อย 500 เมตร สุดท้ายได้เพียงประกาศ คสช.ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจและดุลพินิจเอง และไม่ได้กำหนดขอบเขตชัดเจน เรื่องเหมือนกำลังจะเงียบหายไปแล้ว

จนเดือนตุลาคมที่มีทายาทธุรกิจน้ำเมาโพสต์ข้อความต่อว่านักร้องดัง ว่าใช้อินสตาแกรมโพสต์ที่มีโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังจากนั้นกระแสก็ดังเป็นพลุแตกโดยไม่ได้ปลุกปั้น ลามไปถึงบรรดานักร้องนักแสดงที่เคยโพสต์คู่กับน้ำเมา เป็นอันต้องโดนสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เรียกไปสอบสวน

แต่เอ๊ะ!! สุดท้ายก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไร

7.ครูน้อย”หวิด”ปิดบ้าน

หลังจากเปิดดูแลเด็กด้อยโอกาส เด็กเร่ร่อนให้ได้รับการศึกษามา 35 ปี จู่ๆ ก็มีข่าวเตรียม “ปิดบ้าน” ครูน้อยสร้างความตกใจให้คนในสังคม จากปัญหาหนี้สินพะรุงพะรังกว่า 10 ล้านบาท ที่เคยกู้ยืมเงินนอกระบบมาใช้จ่ายในบ้าน อีกทั้ง นางนวลน้อย ทิมกุล หรือ “ครูน้อย” อายุ 73 ปี ผู้ดูแลยังป่วยด้วยโรคเบาหวาน เดินเหินไม่คล่องแคล่วเหมือนแต่ก่อน หลั่งไหลมาสู่ความสงสารของคนในสังคมพร้อมใจบริจาคเงินช่วย ภาครัฐเองก็ส่งทีมมาช่วยเหลือ จนสามารถต่อลมหายใจบ้านครูน้อยไปได้มาก แต่บางส่วนก็ตั้งข้อสงสัยถึงการใช้จ่ายและรับเงินอย่างไม่เป็นระบบของครูน้อย ที่เป็นต้นเหตุของหนี้สิน บ้างก็มีกระทู้ประกาศปิดเพื่อเรียกเงินบริจาค และแนะนำให้ครูน้อยเกษียณทำงานไปพักผ่อนได้แล้ว

เป็นดราม่าในโลกออนไลน์อยู่พักหนึ่ง

lad01311258p3

8.เรื่องอลวนอลเวงใน”กระทรวงพม.”

คงจะไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเป็นกระทรวงเจ้าภาพด้านสังคม ซึ่งปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย และยังมีประเด็นโด่งดังในหน้าข่าว เพียงเริ่มต้นปีก็เปรี้ยงปร้างแล้ว กับโครงการ 20 ของขวัญ พม.มอบสู่ประชาชน ซึ่งมีข้อครหาการใช้งบ 50 ล้านบาท ไปกับการประชาสัมพันธ์โครงการ แทนที่จะเอาเงินมาช่วยประชาชน มิหนำซ้ำยังมีกระบวนการนอกตำรา จัดงานก่อนตั้งงบเบิกจ่ายทีหลัง จน พล.ต.อ.อดุลย์สั่งหยุดใช้งบ ตั้งคณะกรรมการสอบ พร้อมเด้ง ผอ.ประชาสัมพันธ์ แต่สุดท้ายการตรวจสอบที่ใช้เวลาหลายเดือนก็จบลงโดยไม่มีผู้ทุจริตต้องรับผิดแต่อย่างใด

ก็งงๆ และสงสัยว่าบริษัทออร์แกไนซ์ที่ควักเนื้อจัดงานไปก่อนกว่า 13 ล้านบาท และไม่ได้คืน ไม่เรียกร้องอะไรสักคำ!

กระทรวง พม.ตกเป็นกระแสฮือฮาอีกครั้งในเดือนตุลาคม มีการแต่งตั้งข้าราชการมาเป็นปลัด พม.แทนนายวิเชียร ชวลิต ที่เกษียณอายุราชการไป เสียงเชียร์หดหายอยู่ในสภาพกล้ำกลืน ภายหลังคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ “นายไมตรี อินทุสุต” ข้ามห้วยจากรองปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเป็นปลัด พม. ตอนแรกก็มีแรงต้านบ้าง ข้าราชการจะนัดแต่งชุดดำประท้วง จนต้องถึงคิว พล.ต.อ.อดุลย์ โชว์ประกาศิตหย่าศึก ทำเอาตกใจไปทั่วที่ประชุมผู้บริหาร พม.

ทุกวันนี้ พม.สงบมาก!

9.ผ่านฉลุย 6 พ.ร.บ. 1 มาตรการ

บางคนมองเป็นข้อดีที่ คสช.เข้ามา เพราะผ่านกฎหมายที่เคยคั่งค้างให้ลุล่วงบริบูรณ์ไปจำนวนมาก เพียง 1 ปีก็เกิดกฎหมายด้านสังคมมากมาย ได้แก่ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2558 เพื่อจัดโครงสร้างกระทรวง พม.ใหม่ให้ทำงานคล่องตัวขึ้น ตอบโจทย์ทิศทางอนาคตโดยเฉพาะการตั้งกรมกิจการผู้สูงอายุ, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ที่ทำให้การอุ้มบุญมีกฎหมายรองรับ ช่วยคู่สมรสที่มีบุตรยาก ภายใต้เงื่อนไขห้ามทำเชิงพาณิชย์, พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ที่เปิดช่องทางร้องเรียนถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ เช่น การทำงาน การเข้าถึงตำแหน่ง, พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2558, พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ซึ่งเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

นี่ยังไม่รวมร่าง พ.ร.บ.ควบคุมคนขอทาน พ.ศ. …และร่างแก้ไขกฎหมายด้านสังคมอีกมากมาย ซึ่งขณะนี้คืบหน้าไปมาก

10.ผู้หญิงกับการเมืองจะออกหัวออกก้อย?

สังคมยอมรับศักยภาพผู้หญิงไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ใน กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธาน ก็มีผู้หญิงเข้าไปร่วม เสียดายสุดท้ายภาพลักษณ์ไม่สวยนัก เพราะมีกรณียื่นลาออกของ นางทิชา ณ นคร จากข้อเสนอการให้หลักประกันสัดส่วนผู้หญิงกับพื้นที่การเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่กลับไม่ได้รับการสนองเพราะมองเป็นเงื่อนไขพิเศษ ภายหลังภาคีเครือข่ายทำงานด้านผู้หญิงก็ออกมาเคลื่อนไหวกดดันไม่น้อย โหมกระแสผู้หญิงไทยที่มีสัดส่วนมากกว่าผู้ชายจะไม่ยอม และจะแสดงพลังหากได้ทำประชามติ จนต้องยอมให้คนละครึ่งทางคือ กำหนดสัดส่วนผู้หญิงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในเวทีในการสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมออปชั่นอื่นๆ เช่น การจัดสรรงบประมาณที่คำนึงความเท่าเทียมทางเพศ

ทว่าถูกตีตกไปพร้อมร่างรัฐธรรมนูญฉบับมหาปราชญ์ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของคณะกรรมการยกร่าง ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ยังไม่รู้หัวรู้ก้อย

ก็เป็นสถานการณ์เด่นๆ ด้านสังคม ที่พอมีน้ำมีเนื้อจับต้องได้ นี่ไม่รวมถึงกระแสประเดี๋ยวประด้าว เช่น เด็กแว้น น้องคาร์เมน ชุมชนต้นแบบอารยะสถาปัตย์การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่น่าสนใจ แต่ไม่ค่อยมีน้ำมีเนื้อ และนี่คือภาพรวมของปีแห่งการเริ่มต้น!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image